ต้นไม้ฟอกอากาศ ช่วยดูดฝุ่น PM2.5

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ฝุ่น PM 2.5 นั้น ในปัจจุบันทวีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ฝุ่น PM2.5 นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศทั้งบดบังทัศนียภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคเยื่อบุตาอักเสบ และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดอีกด้วย
ท่ามกลางวิกฤติมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาระดับประเทศและยากจะแก้ไข เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ลดความเสี่ยงที่จะได้รับมลพิษทางอากาศนี้ นอกจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้ว “การปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ” เป็นหนึ่งทางเลือกที่ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ไม่เพียงช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและปล่อยออกซิเจนบริสุทธิ์ แต่ต้นไม้บางชนิดยังมีคุณสมบัติพิเศษในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก กักเก็บสารพิษ และช่วยลดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างต้นไม้ที่นิยมปลูกเพื่อฟอกอากาศ เช่น
– ต้นยางอินเดีย ต้นไม้ใบกว้างที่โดดเด่นเรื่องการดูดซับสารพิษในอากาศ เหมาะสำหรับการตกแต่งภายในบ้านให้มีสไตล์มินิมอล สามารถช่วยลดสารพิษประเภทฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ได้ดี ดูแลง่ายเพียงเช็ดใบให้สะอาดและรดน้ำวันละครั้ง หลีกเลี่ยงการปล่อยให้ดินแฉะเกินไปและควรตั้งในที่มีแสงแดดรำไร
– ต้นลิ้นมังกร ต้นไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการปล่อยออกซิเจนตอนกลางคืน ทำให้เหมาะสำหรับตั้งในห้องนอน สามารถดูดซับสารพิษประเภทเบนซีน (Benzene), ไตรคลอโรเอทิลีน (Trichloroethylene) และฟอร์มาลดีไฮด์ได้ดี ดูแลง่าย หากวางในร่มให้รดน้ำเพียงสัปดาห์ละครั้ง แต่ถ้าวางในที่มีแสงแดดอ่อนๆ ควรรดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
– ต้นเดหลี พืชที่มีความสามารถพิเศษในการดูดซับสารพิษ เช่น แอมโมเนีย (Ammonia), ไซลีน (Xylene) และฟอร์มาลดีไฮด์ ช่วยทำให้อากาศภายในห้องสะอาดขึ้น เหมาะสำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงหรือเด็กเล็ก ต้องการความชื้นปานกลาง ควรรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และนำไปรับแสงแดดรำไรเป็นครั้งคราว
– ต้นมอนสเตอร่า ต้นไม้ฟอกอากาศที่มีใบขนาดใหญ่ ช่วยดักจับฝุ่นละอองในอากาศได้ดี และสามารถดูดซับสารพิษอย่างฟอร์มาลดีไฮด์และเบนซีนได้ถึง 60-70% เลี้ยงง่าย เพียงรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด
– ต้นพูลทอง มีความสามารถในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 75% ในพื้นที่ปิด เหมาะสำหรับตั้งในห้องทำงานหรือห้องนั่งเล่นเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศ สามารถเลี้ยงในน้ำได้ เพียงให้โดนแดดรำไร และเติมน้ำสะอาดอยู่เสมอ
– ไทรใบสัก เป็นต้นไม้ยอดนิยมที่ช่วยฟอกอากาศได้ดีพอๆ กับต้นยางอินเดีย มีความสามารถในการดักจับฝุ่นและลดสารพิษในอากาศ ดูแลง่ายเพียงหมั่นเช็ดใบให้สะอาดและรดน้ำอย่างเหมาะสม
– สาวน้อยประแป้ง พืชฟอกอากาศที่ช่วยกรองมลพิษภายในบ้านได้ดี สามารถลดสารพิษในอากาศ เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์และเบนซีนได้ มีความทนทานและต้องการน้ำไม่มาก ควรรดน้ำวันละครั้งและให้โดนแดดอ่อนๆ ยามเช้าเพื่อให้ใบมีสีสดขึ้น
– ต้นกระบองเพชร (Caribbean Tree Cactus) และแคคตัสสายพันธุ์อวบน้ำพืชที่สามารถดูดซับสารพิษในอากาศได้ดี โดยเฉพาะฟอร์มาลดีไฮด์และคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องการแสงแดดจัด และรดน้ำเพียงสัปดาห์ละครั้ง เหมาะสำหรับวางไว้ในห้องทำงานหรือมุมที่มีแสงแดดเพียงพอ
การปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เราลดความเสี่ยงที่จะได้รับมลพิษทางอากาศและยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับที่พักอาศัย นอกจากจะปลูกต้นไม้ฟอกอากาศแล้วควรใช้เครื่องฟอกอากาศควบคู่ไปด้วย เพื่อให้อากาศที่เราได้รับมีความบริสุทธิ์หรือมีมลพิษน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นการตั้งรับปรับตัวในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูงในปัจจุบัน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– เทคโนโลยีชาวบ้าน, 8 ต้นไม้ฟอกอากาศ แต่งห้องสวยแถมช่วยกรองฝุ่น
– Areeya, 8 ต้นไม้ฟอกอากาศในบ้าน นวัตกรรมธรรมชาติเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
– ไทยรัฐออนไลน์, 30 สุดยอดต้นไม้ฟอกอากาศ มีอะไรบ้าง

2 กุมภาพันธ์ : วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day)

“PROTECTING WETLANDS FOR OUR COMMON FUTURE – Value, Protect, Inspire”
หรือ “ปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่ออนาคตของเรา – รู้คุณค่า ร่วมปกป้อง สร้างแรงขับเคลื่อน”

ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญและป้องกันไม่ให้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 700,000 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่อยู่ในดินพรุ และมีคาร์บอนกักเก็บได้ 96 ล้านตันต่อปี ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำจึงสามารถช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ นอกจากนี้ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำยังสามารถปรับตัวรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์ได้อีกด้วย
ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ เนื่องจากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำมีบทบาทในการหล่อเลี้ยงทุกชีวิต แต่กำลังเผชิญกับภัยคุกคาม การส่งเสริมความร่วมมือ รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก และปกป้องระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญนี้ไปด้วยกัน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– Wetlands & Climate Change, Department of Ecology State of Washington, n.d.
– World Wetlands Day เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก, Greenpeace, 2022

ปลูกป่า – เพิ่มพื้นที่สีเขียว การสร้าง ‘ปอดของโลก’ ที่ยั่งยืน

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและการปลูกป่า ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกเพื่อความยั่งยืนในอนาคต แต่ยังเป็นการตอบสนองต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ หลายเมืองใหญ่ของโลกเริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูระบบนิเวศภายในเมือง โดยหันมาพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีตัวอย่างที่น่าสนใจจากหลายประเทศ ซึ่งต่างริเริ่มและสานต่อโครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและผืนป่า เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตไปพร้อมกับลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการผลิตน้ำมัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยูเออีได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เช่น โครงการ “Dubai Green Spine” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญที่สุดในการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เมืองดูไบ โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนถนน Sheikh Mohammed Bin Zayed (E311) ให้กลายเป็นทางเดินสีเขียวที่ยาวถึง 64 กิโลเมตร โดยจะมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดการพึ่งพาการใช้รถยนต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง (1)
โครงการยักษ์ใหญ่นี้มีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2040 ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นโครงการขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบาย แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน ทั้งในแง่การทำเกษตรในเมือง การปลูกต้นไม้พื้นเมือง และการลดอุณหภูมิในเมือง การพัฒนาเหล่านี้จะช่วยให้ประชาชนได้สัมผัสกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันเมืองยังสามารถรับมือกับปัญหาสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่การเดินเล่น การออกกำลังกาย ไปจนถึงการพักผ่อนในสวนสาธารณะ (1)
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองในธรรมชาติ” (City in Nature) ซึ่งมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองให้เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการส่งเสริมโครงการต่าง ๆ เช่น การสร้างสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวใหม่ ๆ ทั่วเมือง ตลอดจนการปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ และที่พักอาศัย รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างและดูแลพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ โครงการ “Singapore Green Plan 2030” ของสิงคโปร์จึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองให้มีความยั่งยืน และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต (2)
สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 200 เฮกตาร์ภาย (ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร) ในปี ค.ศ. 2030 และยังมีโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นทั่วประเทศภายในปีเดียวกัน โดยมีการสร้างสวนธรรมชาติ และฟื้นฟูระบบนิเวศในเขตเมือง เพื่อลดผลกระทบจากคลื่นความร้อนและมลพิษทางอากาศ ที่สำคัญคือการใช้พื้นที่สีเขียวในการเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมือง (2)
ตัวอย่างโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากทวีปอเมริกาใต้ คือการสร้างพื้นที่คุ้มครองใหม่ในโบลิเวียที่มีชื่อว่า “El Gran Manupare” ซึ่งครอบคลุมกว่า 452,639 เฮกตาร์ (ประมาณ 4,526.39 ตารางกิโลเมตร) ในพื้นที่ป่าแอมะซอนตอนเหนือ การจัดตั้งพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “โมเสกการอนุรักษ์” หรือการสร้างเครือข่ายของพื้นที่คุ้มครอง หรือเขตอนุรักษ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกัน เพื่อเพิ่มความต่อเนื่องของระบบนิเวศและพื้นที่สีเขียว โดยเชื่อมต่อกับพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ เช่น Reserva Nacional de Vida Silvestre Amazónica Manuripi ทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวรวมกว่า 10 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร) ในภูมิภาค พื้นที่ใหม่แห่งนี้มีเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3)
การขยายพื้นที่สีเขียวของโบลิเวียถือเป็นการเพิ่มความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ ซึ่งมีการวางแผนร่วมกับองค์กรต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าแอมะซอนที่เป็นปอดของโลก พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงแต่ช่วยกักเก็บคาร์บอน แต่ยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ เพิ่มความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่นในระยะยาว นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรอนุรักษ์ และชุมชนพื้นเมืองในการดูแลและรักษาพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ (3)
อีกหนึ่งแนวทางของประเทศในทวีปแอฟริกาที่น่าสนใจคือ โครงการปลูกต้นไม้ประจำปีภายใต้ชื่อ “Green Ghana Day” ของประเทศกานา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา กานาตั้งเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้ถึง 10 ล้านต้น ซึ่งถือเป็นความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของป่าไม้ (4)
โครงการนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2564 และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยในแต่ละปีมีการตั้งเป้าหมายการปลูกต้นไม้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของป่าไม้ และลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศ ความพยายามนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระดับชาติที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ในด้านการจัดการป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4)
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการปลูกป่าในเมือง และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกถือเป็นการดำเนินการโครงการที่สำคัญ มีผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศต่าง ๆ ในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ไม่เพียงแค่ในแง่ของการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว การลงทุนในพื้นที่สีเขียวไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ แต่ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่น ๆ ในการเดินตามรอยการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทุกการกระทำล้วนส่งผลดีต่อโลกของเราในอนาคต

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– World’s greenest highway combines cutting-edge sustainability, enhanced community living, and pioneering green infrastructure to redefine urban mobility., DUBAI GREEN SPINE 64KM SUSTAINABLE HIGHWAY, URB : A Global Leader in Developing Sustainable Cities
– National Parks, Singapore Government Agency
– In Bolivia, a ‘conservation mosaic’ gets another (big) piece, Conservation International : Fighting to Protect Nature for People.
– Ghana to plant 10 million trees in the 2024 Edition of Green Ghana Day – Minister for Lands and Natural Resources, Ministry of Information, Ghana

ตรุษจีนยั่งยืน สร้างโลกสีเขียว ลดโลกร้อน

“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” เทศกาลตรุษจีน เวียนมาบรรจบอีกครั้ง หรือเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองสู่การขึ้นปีใหม่ของผู้ที่มีเชื้อสายจีนทั่วโลก นำพาความสุขและความปิติมาสู่ทุกครัวเรือน แต่รู้หรือไม่ว่า ประเพณีที่เรารักและปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว แล้วเราจะฉลองตรุษจีนอย่างไรให้มีความสุขและยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ?
(1) เปลี่ยนเสื้อแดงตัวเก่า ให้เป็นลุคใหม่ : การมีเสื้อผ้าใหม่ต้อนรับปีใหม่ก็เป็นเรื่องดี แต่การนำเสื้อผ้าที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนให้ดูใหม่ก็เป็นไอเดียที่เจ๋งไม่แพ้กันเลยค่ะ นอกจากจะประหยัดเงินแล้ว ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะจากเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้
(2) จุดประทัดออนไลน์ : การจุดประทัดทำให้เกิดเขม่าควันจากการเผาไหม้ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงวัย การจุดประทัดออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ โดยการเปิดเสียงประทัดผ่านลำโพงในระดับเสียงที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการช่วยสืบสานแนวทางปฏิบัติแบบเดิมไว้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
(3) เปลี่ยนไปใช้ธูป/เทียนไฟฟ้า : ควันที่เกิดขึ้นจากการจุดธูปเทียนส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเปลี่ยนมาใช้ธูปเทียนไฟฟ้าจึงเป็นอีหนึ่งทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะธูปเทียนไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดควันรวมทั้งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
(4) โอนเงินแทนซองแดง : ลดการใช้กระดาษโดยโอนเงินแทนซองแดง วิธีนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการใช้กระดาษและลดขยะเท่านั้น แต่ยังสะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับอีกด้วย การโอนเงินจึงเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว
(5) ทำอาหารอย่างเหมาะสม : การจัดโต๊ะไหว้ให้มีความหมายและในปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว เพื่อไม่ให้มีปริมาณอาหารเหลือทิ้ง เป็นการลดของเสียจากอาหารและลดปริมาณขยะอินทรีย์ในครัวเรือน ที่สำคัญยังช่วยลดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้โลกร้อนอีกด้วย
(6) car pool หรือใช้รถสาธารณะ : เป็นทางเลือกที่ดีในการประหยัดพลังงานและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2.95 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– Urbancreature
– Climate Care Collaboration Platform

นี่แหละวิกฤตโลกร้อนของจริง ไทยหนาวสะท้านยาวนานที่สุด หิมะถล่มญี่ปุ่น ไฟป่าโหมแคลิฟอร์เนีย

ช่วงสัปดาห์นี้สภาพอากาศโลกแปรปรวนหนักมาก ในประเทศไทยเผชิญอากาศหนาวเย็นลงนานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 16-18 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นผลมาจากมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ สภาพอากาศนี้ส่งผลให้ประชาชนต้องเผชิญกับหมอกบางในตอนเช้าและความเสี่ยงจากอากาศแห้งที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยในหลายพื้นที่ (1)
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศประจำวันที่ 13 มกราคม 2568 พบว่าเช้าวันนี้เป็นวันที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบปีนี้และหลายปีที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 6.6 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดสกลนคร ส่วนประเทศไทยตอนบนยังมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่ กทม.อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 14.8 องศาเซลเซียส และฤดูหนาวจะลากยาวไปจนถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 (2)
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ มวลอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้อุณหภูมิในบริเวณเหล่านี้ลดลง พร้อมกับมีลมแรงเกิดขึ้น (1)
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า ในปี 2567 ประเทศจีนประสบกับอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี โดยอุณหภูมิที่เมืองโม่เหอในมณฑลต้าซิงอันหลิงลดลงถึง -53 องศาเซลเซียส พร้อมกับหิมะตกหนักเกือบทั่วประเทศ ปรากฏการณ์อากาศหนาวสุดขั้วนี้เกิดจาก “Polar Vortex” หรือกระแสลมกรดพัดล้อมรอบบริเวณที่มีอากาศเย็นจัด ซึ่งเป็นการแผ่ขยายของมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือสู่ประเทศจีน โดยมีสาเหตุมาจากการที่โลกร้อนขึ้น ทำให้กระแสลม Polar Jet Stream เบี่ยงทิศทาง และทำให้กระแสลมกรดนี้ขยายลงมายังพื้นที่ทางใต้ (3)
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากการหมุนของลมขั้วโลกที่พัดจากทิศตะวันตกไปตะวันออก ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้มวลอากาศเย็นจากขั้วโลกแผ่ขยายลงมาทางใต้ แต่ด้วยการที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้กระแสลมกรดดังกล่าวอ่อนกำลังลงและขยายไปยังประเทศจีนและภูมิภาคอื่น ๆ ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นจัดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การที่มวลอากาศเย็นแผ่ขยายลงมาทางใต้ยังส่งผลให้เกิดความกดอากาศสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดอากาศหนาวเย็นผิดปกติ และยาวนานกว่าปีก่อน ๆ (3)
สภาพอากาศที่หนาวเย็นในไทยยังส่งผลให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นทำให้อากาศปิด การสะสมของฝุ่นละอองในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ (3)
อีกฟากหนึ่งของโลก เกิดไฟป่าโหมไหม้บ้านเรือนประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของลอสแอนเจลิส และได้คร่าชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 10 ราย เจ้าหน้าที่ต้องสั่งอพยพประชาชนเกือบ 180,000 คน และเผาผลาญพื้นที่ไปหลายแสนไร่ (5) (6)
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ไฟป่าเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงกว่าในอดีต ความร้อนและความแห้งแล้งในปีที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งให้เกิดสถานการณ์ไฟป่าในปัจจุบัน แม้ว่าปริมาณฝนที่ตกมากในช่วงสองปีที่ผ่านมาในแคลิฟอร์เนียจะช่วยให้พืชพรรณเติบโต แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนและฤดูหนาวที่แห้งแล้ง พืชเหล่านี้กลับกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ไฟลุกลามได้ง่ายขึ้น (6)
ลมซานตาอานาที่พัดแรงถึง 129 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียลุกลามอย่างรวดเร็ว ลมเหล่านี้นอกจากจะพัดเปลวไฟให้แพร่กระจายไปในวงกว้าง ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่ต้องควบคุมไฟป่าในพื้นที่ลาดชัน (4)
ผลกระทบจากไฟป่าครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ว่าสูงถึง 1.97 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ควันไฟที่ลอยฟุ้งไปไกลยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศในพื้นที่ใกล้เคียง และสุขภาพของประชาชนในระยะยาว (5)
ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับหิมะตกหนักที่สุดในรอบปีที่โทไคและโฮคุริกุในภูมิภาคทางตอนเหนือและตะวันตกโดยบางพื้นที่หิมะสะสมสูงถึง 70 เซนติเมตร สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเดินทาง รถไฟชินคันเซ็นในภูมิภาคโฮคุริกุต้องลดความเร็วลงหรือหยุดให้บริการชั่วคราวในบางสาย และทางด่วนบางส่วนต้องปิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การเตรียมพร้อมรับมือของญี่ปุ่นแม้จะมีประสิทธิภาพ แต่ภัยพิบัติเช่นนี้ได้สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม (7) (8)
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า สภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้คือผลพวงของภาวะโลกร้อนที่เร่งให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิอากาศโลก และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน เช่น ฤดูหนาวที่หนาวจัดหรือฤดูร้อนที่ร้อนจัด ไม่เพียงกระทบต่อมนุษย์แต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศอย่างรุนแรง (9)
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กำลังเตือนเราว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์เป็นทางรอดและจำเป็น การใช้พลังงานทดแทนและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแนวทางที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตนี้ได้ แต่หากยังไม่ลงมือทำ อนาคตของโลกอาจเต็มไปด้วยสภาพอากาศสุดขั้วที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อีกต่อไป (10)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรมอุตุนิยมวิทยา
(2) ฐานเศรษฐกิจ, กรมอุตุนิยมวิทยา เผยสภาพอากาศวันนี้ ไทยหนาวเย็นที่สุดในรอบปี
(3) ไทยโพสต์ : อิสรภาพแห่งความคิด, นักวิชาการ มีคำอธิบาย ‘ทำไม? ประเทศไทยปีนี้จึงหนาวเย็นมากกว่าปกติ’
(4) Why wildfires are becoming faster and more furious, BBC News.
(5) BBC News ไทย, ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย : สถานการณ์ยังน่ากังวล เปิดสาเหตุไฟโหมรุนแรงหนัก, ไฟป่าแคลิฟอร์เนียโหมรุนแรง สาเหตุมาจากอะไร เรารู้อะไรแล้วบ้าง?
(6) BBC News ไทย, ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่าในแอลเอ, ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่ารุนแรงในแคลิฟอร์เนียอย่างไร?
(7) Sea of Japan coast braces for heavy snow, possible traffic disruption, JapanToday.
(8) Heavy snow hits north, west Japan, 100 vehicles temporarily stranded., Kyodo News+
(9) Climate Change Indicators : Weather and Climate, EPA : United States Environmental Protection Agency.
(10) Greenhouse gases emissions and global climate change : Examining the influence of CO2, CH4, and N2O., ScienceDirect.

กรมลดโลกร้อน จัดส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (Thailand First Biennial Transparency Report : BTR1) ทันตามกำหนดภายในปี ค.ศ. 2024

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) ได้จัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (Thailand’s First Biennial Transparency Report : BTR1) ตามที่ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งต้องจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี ทุก ๆ 2 ปี เพื่อสื่อสารสิ่งที่ประเทศไทยได้ดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชาคมโลก และเป็นเครื่องมือในการขอรับการสนับสนุน เทคโนโลยี องค์ความรู้ การเสริมสร้างศักยภาพแหล่งเงินทุนต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยประเทศไทยได้จัดส่งรายงาน BTR1 ไปยัง UNFCCC เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2024
รายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 มีเนื้อหาหลักดังนี้ 1) สภาวการณ์ของประเทศ 2) บัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ นำเสนอปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000-2022 โดยในปี ค.ศ. 2022 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 278,039.73 ktCO2eq (รวมภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน) และมีปริมาณการล่อยก๊าซเรือนกระจก 385,941.14 ktCO2eq (ไม่รวมภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน) 3) ความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย NDC ในปี ค.ศ. 2021 – 2022 ประไทยมีปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 60.33 MtCO2eq และ 65.23 MtCO2eq ตามลำดับ สำหรับความก้าวหน้าในการดำเนินงานตาม NDC ภายใต้มาตรา 4 ของความตกลงปารีส ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่ร้อยละ 30.46 เมื่อเทียบกับ BAU และการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศทั้งสิ้น 1,916 tCO2eq ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ 4) ผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำร่องด้านการปรับตัว 6 สาขา จำนวน 6 จังหวัด และ 5) การเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และข้อจำกัด ช่องว่าง ความต้องการและการสนับสนุนที่ได้รับ วงเงินประมาณ 38,668.47 ล้านบาท หรือ 1,102.92 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”