ภาพรวม… แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573

เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (หรือ NDC) ที่ร้อยละ 30 – 40 จากกรณีปกติ ณ ปี พ.ศ.2573 โดยแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ.2564 – 2573 นี้ จัดเป็นแผนระดับ 3 ที่บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบหลักรายสาขา ทั้ง 5 สาขา ดังนี้
– สาขาพลังงาน โดยสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน
– สาขาคมนาคมขนส่ง โดยสำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) กระทรวงคมนาคม
– สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
– สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ
– สาขาเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เป็นหน่วยประสานงานกลางของประเทศ
คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไว้ที่ 222.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) หรือ ร้อยละ 40 ณ ปี พ.ศ. 2573 ซึ่งแบ่งเป็น… เป้าหมายที่ สามารถดำเนินการได้เองในประเทศ (หรือ Unconditional) 184.8 MtCO2eq (หรือร้อยละ 33.3)
เป้าหมายที่สามารถดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ (หรือ Conditional) 37.5 MtCO2eq (หรือร้อยละ 6.7)
** ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แผนฉบับนี้ได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอีก ไม่เกินร้อยละ 3 ในกรณีที่ใช้กลไกบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ Article 6
โดยเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี พ.ศ. 2573 ที่ประเทศไทยต้องดำเนินการเองให้ได้ คือ 184.8 MtCO2eq (หรือร้อยละ 33.3) แบ่งเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้
– สาขาพลังงาน 124.6 MtCO2eq
– สาขาคมนาคมขนส่ง 45.6 MtCO2eq
– สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม 9.1 MtCO2eq
– สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมฯ 1.4 MtCO2eq
– สาขาเกษตร 4.1 MtCO2eq
ในส่วนของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงอีก 6.7 % และ 3% ประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ และใช้กลไก Article 6

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

NDC Action Plan 2021-2030_Final (2025.04.09)

รู้หรือไม่… การซื้อเสื้อผ้ามือสอง ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เพียบ

ในยุคที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โลกกำลังเผชิญ “ปัญหาขยะ” ที่สะสมในปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะขยะสิ่งทอที่เป็นหนึ่งในปัญหาหลักทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 10% ของทั่วโลก และมีการคาดการณ์ว่าปริมาณเสื้อผ้าที่ผลิตใหม่จะเพิ่มขึ้นสามเท่าในอีก 30 ปีข้างหน้า หากไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภค ขยะสิ่งทอที่เกิดจาก “แฟชั่น” อาจทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (1)
การวิจัยพบว่าเส้นใยเพื่อการผลิตสินค้าโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับสูงสุดที่ 116 ล้านตันในปี 2565 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ในทางกลับกันอัตราการรีไซเคิลสิ่งทอกลับลดลงจาก 8.5% ในปี 2564 เหลือเพียง 7.9% ในปี 2565 นอกจากนี้ เส้นใยที่รีไซเคิลได้ส่วนใหญ่ยังมาจากขวดพลาสติก ไม่ใช่จากสิ่งทอที่ถูกใช้แล้วจริง ๆ โดยมีเพียงน้อยกว่า 1% เท่านั้นที่มาจากการรีไซเคิลสิ่งทอทั้งก่อนและหลังการใช้งานของผู้บริโภค (1)
ยิ่งไปกว่านั้น เสื้อผ้ายังถูกผลิตใหม่กว่า 100,000 ล้านชิ้นต่อปีทั่วโลก ซึ่งสร้างขยะสิ่งทอในแต่ละปีมากถึง 92 ล้านตัน หรือคิดเป็น 7% ของขยะในหลุมฝังกลบทั้งหมด และอุตสาหกรรมสิ่งทอปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 10% ของทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเมื่อเทียบกับการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งรวมกัน (2)
ดังนั้น ข้อดีของการซื้อสินค้ามือสองไม่เพียงแต่ช่วยลดขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าใหม่ แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ การวิจัยพบว่า การซื้อเสื้อผ้ามือสองสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 42% ลดการใช้พลังงานสะสม 27-42% (1) และลดการใช้น้ำได้ถึง 336 ลิตรต่อชิ้น (3)
ตลาดสินค้ามือสองทั่วโลกมีแนวโน้มว่า กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทว่าจากข้อมูลของ Loop Generation รายงานว่า แม้ 63% ของคนอังกฤษซื้อสินค้ามือสอง แต่ในตู้เสื้อผ้าของพวกเขามีเพียง 1-10% เท่านั้นที่เป็นสินค้ามือสอง ซึ่งสะท้อนว่า “ฟาสต์แฟชั่น” (Fast fashion) ยังคงครองตลาด การผลิตและทิ้งเสื้อผ้าอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้เกิดขยะสิ่งทอที่ย่อยสลายได้ยากจำนวนมหาศาล และสร้างปัญหามลพิษต่อดิน น้ำ และอากาศ (2)
การใช้น้ำในกระบวนการผลิต เช่น การผลิตกางเกงยีนส์หนึ่งตัวใช้น้ำถึง 7,570 ลิตร หรือการปล่อยสารเคมีและมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ การผลิตเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ ยังทำให้ “ไมโครพลาสติก” เล็ดลอดสู่มหาสมุทรถึง 500,000 ตันต่อปี ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เมื่อสะสมในร่างกายมนุษย์ในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง หรือขัดขวางการทำงานของหลอดเลือด และส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างรุนแรง (4)
เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ การเลือกสินค้ามือสองยิ่งเป็นทางเลือกที่ให้ผลลัพธ์เชิงบวกอย่างมาก ในปี 2022 คนอเมริกันซื้อเสื้อผ้ามือสองรวมกันกว่า 1,400 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นถึง 40% จากปีก่อนหน้า ซึ่งช่วยลดความต้องการผลิตเสื้อผ้าใหม่ลง อีกทั้งตลาดสินค้ามือสองยังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials ที่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และมองว่าแฟชั่นยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ การสำรวจพบว่า 61% ของคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับเทรนด์ความยั่งยืน และเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (3)
ข้อแนะนำการเลือกบริโภคอย่างยั่งยืน (5)(6)
– เลือกใช้ก่อนซื้อใหม่ ตรวจสอบว่ามีสินค้ามือสองหรือสินค้ารีไซเคิลที่ตอบโจทย์การใช้งานหรือไม่
– บริจาคหรือขายต่อ แทนที่จะทิ้งสินค้าที่ไม่ใช้แล้ว ลองบริจาคหรือขายต่อ เพื่อให้สินค้ามีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น
– สนับสนุนร้านค้าท้องถิ่น การซื้อสินค้ามือสองจากร้านค้าในชุมชนช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น
– คำนึงถึงคุณภาพ เลือกสินค้ามือสองที่มีคุณภาพดี เพื่อให้ใช้งานได้ยาวนานและลดความจำเป็นต้องซื้อใหม่บ่อยครั้ง
นอกจากนี้ การซื้อสินค้ามือสองยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน โดยร้านขายของมือสองส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยองค์กรการกุศล ซึ่งรายได้จากการขายถูกนำไปสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนและช่วยเหลือผู้ขาดแคลน การสนับสนุนร้านเหล่านี้จึงเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ (5)
อย่างไรก็ดี สินค้ามือสองไม่ได้จำกัดแค่เสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ซึ่งช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และลดความต้องการแร่ธาตุหายาก การเลือกใช้อุปกรณ์มือสองยังช่วยลดมลพิษจากกระบวนการผลิตใหม่ และลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศผู้ผลิต (6)
ดังนั้น การเลือกใช้สินค้ามือสองไม่ใช่เพียงการประหยัดเงินหรือการลดขยะ แต่คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ทุกครั้งที่เราตัดสินใจใช้สิ่งของที่ยังมีคุณค่าแทนการผลิตใหม่ เรากำลังช่วยยืดอายุการใช้งานของทรัพยากร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างสมดุลใหม่ให้กับระบบนิเวศ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ส่งต่อคุณค่าให้กับโลก สร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับพวกเราทุกคน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Do We Save the Environment by Buying Second-Hand Clothes? The Environmental Impacts of Second-Hand Textile Fashion and the Influence of Consumer Choices., Circular Economy.
(2) Why Buying Second-Hand Clothes Matters., Loop Generation.
(3) ไทยรัฐออนไลน์, Future Perfect, เสื้อผ้ามือสอง กำลังช่วยหยุดโลกจากหายนะสิ่งแวดล้อม
(4) ไทยรัฐออนไลน์, Future Perfect, Fast Fashion ความเร็วที่ทำให้โลกไม่ยั่งยืน
(5) 5 Ways Thrift Shopping Helps the Environment., FORT BEND WOMEN’S CENTER.
(6) SECONDHAND101, CENTER for BIOLOGICAL DIVERSITY.

ทำไม… ประเทศไทย ต้องส่งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)

จากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้เกิดข้อตกลงร่วมกันของประเทศภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ขึ้นมาเรียกว่า “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ที่มีข้อกำหนดให้ทุกประเทศภาคีสมาชิก UNFCCC จะต้องมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีสมาชิก UNFCCC ได้จัดส่ง เป้าหมายระยะยาว หรือ ที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ” (Thailand’s Long-term greenhouse gas emission development strategy : LT-LEDs) และเป้าหมายระยะสั้น หรือ “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” (Nationally Determined Contribution) ให้กับ UNFCCC เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
“ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ” หรือ LT-LEDs เป็นเสมือน “เข็มทิศ” ใน การพัฒนาประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และ ก๊าชเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 โดยมีมาตรการหลักที่สำคัญ ได้แก่
– การส่งเสริมการใช้ปูนชีเมนต์ไฮดรอลิค และการปลูกข้าวแบบปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ ภายในปี พ.ศ. 2568
– ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และลดการใช้ยานยนต์สันดาปภายใน ภายในปี พ.ศ. 2573
– ส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ภายในปี พ.ศ. 2578
– เพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวให้ได้ ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. 2580 (ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ)
– ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี CCS CCUS BECCS รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ ร้อยละ 68 ภายในปี พ.ศ. 2583
– ส่งเสริมการใช้พลังงานไฮโดรเจน ภายในปี พ.ศ. 2588
– ยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ ร้อยละ 74 ภายในปี พ.ศ. 2590 (ซึ่งเป็นปีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ)
ส่วน “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” ฉบับที่ 1 หรือ NDC1 ที่ประเทศไทยได้จัดส่ง UNFCCC ไปนั้น ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 30 ถึง 40 จากกรณีปกติ หรือ BAU ภายในปี พ.ศ. 2573
BAU หรือ Business As Usual หมายถึง ค่าประมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ณ ปี พ.ศ. 2573 ในกรณีที่ประเทศไทยมิได้ดำเนินการใดๆ เลย ซึ่งคาดประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ร้อยละ 30 หมายถึง เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกรณีที่เป็นการดำเนินการเองภายในประเทศ หรือคิดเป็น 167 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและอีก ร้อยละ 10 หมายถึง เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกรณีที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทั้งในด้านงบประมาณและเทคโนโลยี หรือคิดเป็น 55 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ต้นไม้ฟอกอากาศ ช่วยดูดฝุ่น PM2.5

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ฝุ่น PM 2.5 นั้น ในปัจจุบันทวีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ฝุ่น PM2.5 นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศทั้งบดบังทัศนียภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคเยื่อบุตาอักเสบ และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดอีกด้วย
ท่ามกลางวิกฤติมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาระดับประเทศและยากจะแก้ไข เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ลดความเสี่ยงที่จะได้รับมลพิษทางอากาศนี้ นอกจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้ว “การปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ” เป็นหนึ่งทางเลือกที่ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ไม่เพียงช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและปล่อยออกซิเจนบริสุทธิ์ แต่ต้นไม้บางชนิดยังมีคุณสมบัติพิเศษในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก กักเก็บสารพิษ และช่วยลดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างต้นไม้ที่นิยมปลูกเพื่อฟอกอากาศ เช่น
– ต้นยางอินเดีย ต้นไม้ใบกว้างที่โดดเด่นเรื่องการดูดซับสารพิษในอากาศ เหมาะสำหรับการตกแต่งภายในบ้านให้มีสไตล์มินิมอล สามารถช่วยลดสารพิษประเภทฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ได้ดี ดูแลง่ายเพียงเช็ดใบให้สะอาดและรดน้ำวันละครั้ง หลีกเลี่ยงการปล่อยให้ดินแฉะเกินไปและควรตั้งในที่มีแสงแดดรำไร
– ต้นลิ้นมังกร ต้นไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการปล่อยออกซิเจนตอนกลางคืน ทำให้เหมาะสำหรับตั้งในห้องนอน สามารถดูดซับสารพิษประเภทเบนซีน (Benzene), ไตรคลอโรเอทิลีน (Trichloroethylene) และฟอร์มาลดีไฮด์ได้ดี ดูแลง่าย หากวางในร่มให้รดน้ำเพียงสัปดาห์ละครั้ง แต่ถ้าวางในที่มีแสงแดดอ่อนๆ ควรรดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
– ต้นเดหลี พืชที่มีความสามารถพิเศษในการดูดซับสารพิษ เช่น แอมโมเนีย (Ammonia), ไซลีน (Xylene) และฟอร์มาลดีไฮด์ ช่วยทำให้อากาศภายในห้องสะอาดขึ้น เหมาะสำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงหรือเด็กเล็ก ต้องการความชื้นปานกลาง ควรรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และนำไปรับแสงแดดรำไรเป็นครั้งคราว
– ต้นมอนสเตอร่า ต้นไม้ฟอกอากาศที่มีใบขนาดใหญ่ ช่วยดักจับฝุ่นละอองในอากาศได้ดี และสามารถดูดซับสารพิษอย่างฟอร์มาลดีไฮด์และเบนซีนได้ถึง 60-70% เลี้ยงง่าย เพียงรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด
– ต้นพูลทอง มีความสามารถในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 75% ในพื้นที่ปิด เหมาะสำหรับตั้งในห้องทำงานหรือห้องนั่งเล่นเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศ สามารถเลี้ยงในน้ำได้ เพียงให้โดนแดดรำไร และเติมน้ำสะอาดอยู่เสมอ
– ไทรใบสัก เป็นต้นไม้ยอดนิยมที่ช่วยฟอกอากาศได้ดีพอๆ กับต้นยางอินเดีย มีความสามารถในการดักจับฝุ่นและลดสารพิษในอากาศ ดูแลง่ายเพียงหมั่นเช็ดใบให้สะอาดและรดน้ำอย่างเหมาะสม
– สาวน้อยประแป้ง พืชฟอกอากาศที่ช่วยกรองมลพิษภายในบ้านได้ดี สามารถลดสารพิษในอากาศ เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์และเบนซีนได้ มีความทนทานและต้องการน้ำไม่มาก ควรรดน้ำวันละครั้งและให้โดนแดดอ่อนๆ ยามเช้าเพื่อให้ใบมีสีสดขึ้น
– ต้นกระบองเพชร (Caribbean Tree Cactus) และแคคตัสสายพันธุ์อวบน้ำพืชที่สามารถดูดซับสารพิษในอากาศได้ดี โดยเฉพาะฟอร์มาลดีไฮด์และคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องการแสงแดดจัด และรดน้ำเพียงสัปดาห์ละครั้ง เหมาะสำหรับวางไว้ในห้องทำงานหรือมุมที่มีแสงแดดเพียงพอ
การปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เราลดความเสี่ยงที่จะได้รับมลพิษทางอากาศและยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับที่พักอาศัย นอกจากจะปลูกต้นไม้ฟอกอากาศแล้วควรใช้เครื่องฟอกอากาศควบคู่ไปด้วย เพื่อให้อากาศที่เราได้รับมีความบริสุทธิ์หรือมีมลพิษน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นการตั้งรับปรับตัวในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูงในปัจจุบัน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– เทคโนโลยีชาวบ้าน, 8 ต้นไม้ฟอกอากาศ แต่งห้องสวยแถมช่วยกรองฝุ่น
– Areeya, 8 ต้นไม้ฟอกอากาศในบ้าน นวัตกรรมธรรมชาติเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
– ไทยรัฐออนไลน์, 30 สุดยอดต้นไม้ฟอกอากาศ มีอะไรบ้าง

ตรุษจีนยั่งยืน สร้างโลกสีเขียว ลดโลกร้อน

“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” เทศกาลตรุษจีน เวียนมาบรรจบอีกครั้ง หรือเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองสู่การขึ้นปีใหม่ของผู้ที่มีเชื้อสายจีนทั่วโลก นำพาความสุขและความปิติมาสู่ทุกครัวเรือน แต่รู้หรือไม่ว่า ประเพณีที่เรารักและปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว แล้วเราจะฉลองตรุษจีนอย่างไรให้มีความสุขและยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ?
(1) เปลี่ยนเสื้อแดงตัวเก่า ให้เป็นลุคใหม่ : การมีเสื้อผ้าใหม่ต้อนรับปีใหม่ก็เป็นเรื่องดี แต่การนำเสื้อผ้าที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนให้ดูใหม่ก็เป็นไอเดียที่เจ๋งไม่แพ้กันเลยค่ะ นอกจากจะประหยัดเงินแล้ว ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะจากเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้
(2) จุดประทัดออนไลน์ : การจุดประทัดทำให้เกิดเขม่าควันจากการเผาไหม้ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงวัย การจุดประทัดออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ โดยการเปิดเสียงประทัดผ่านลำโพงในระดับเสียงที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการช่วยสืบสานแนวทางปฏิบัติแบบเดิมไว้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
(3) เปลี่ยนไปใช้ธูป/เทียนไฟฟ้า : ควันที่เกิดขึ้นจากการจุดธูปเทียนส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเปลี่ยนมาใช้ธูปเทียนไฟฟ้าจึงเป็นอีหนึ่งทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะธูปเทียนไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดควันรวมทั้งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
(4) โอนเงินแทนซองแดง : ลดการใช้กระดาษโดยโอนเงินแทนซองแดง วิธีนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการใช้กระดาษและลดขยะเท่านั้น แต่ยังสะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับอีกด้วย การโอนเงินจึงเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว
(5) ทำอาหารอย่างเหมาะสม : การจัดโต๊ะไหว้ให้มีความหมายและในปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว เพื่อไม่ให้มีปริมาณอาหารเหลือทิ้ง เป็นการลดของเสียจากอาหารและลดปริมาณขยะอินทรีย์ในครัวเรือน ที่สำคัญยังช่วยลดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้โลกร้อนอีกด้วย
(6) car pool หรือใช้รถสาธารณะ : เป็นทางเลือกที่ดีในการประหยัดพลังงานและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2.95 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– Urbancreature
– Climate Care Collaboration Platform

นี่แหละวิกฤตโลกร้อนของจริง ไทยหนาวสะท้านยาวนานที่สุด หิมะถล่มญี่ปุ่น ไฟป่าโหมแคลิฟอร์เนีย

ช่วงสัปดาห์นี้สภาพอากาศโลกแปรปรวนหนักมาก ในประเทศไทยเผชิญอากาศหนาวเย็นลงนานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 16-18 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นผลมาจากมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ สภาพอากาศนี้ส่งผลให้ประชาชนต้องเผชิญกับหมอกบางในตอนเช้าและความเสี่ยงจากอากาศแห้งที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยในหลายพื้นที่ (1)
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศประจำวันที่ 13 มกราคม 2568 พบว่าเช้าวันนี้เป็นวันที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบปีนี้และหลายปีที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 6.6 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดสกลนคร ส่วนประเทศไทยตอนบนยังมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่ กทม.อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 14.8 องศาเซลเซียส และฤดูหนาวจะลากยาวไปจนถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 (2)
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ มวลอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้อุณหภูมิในบริเวณเหล่านี้ลดลง พร้อมกับมีลมแรงเกิดขึ้น (1)
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า ในปี 2567 ประเทศจีนประสบกับอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี โดยอุณหภูมิที่เมืองโม่เหอในมณฑลต้าซิงอันหลิงลดลงถึง -53 องศาเซลเซียส พร้อมกับหิมะตกหนักเกือบทั่วประเทศ ปรากฏการณ์อากาศหนาวสุดขั้วนี้เกิดจาก “Polar Vortex” หรือกระแสลมกรดพัดล้อมรอบบริเวณที่มีอากาศเย็นจัด ซึ่งเป็นการแผ่ขยายของมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือสู่ประเทศจีน โดยมีสาเหตุมาจากการที่โลกร้อนขึ้น ทำให้กระแสลม Polar Jet Stream เบี่ยงทิศทาง และทำให้กระแสลมกรดนี้ขยายลงมายังพื้นที่ทางใต้ (3)
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากการหมุนของลมขั้วโลกที่พัดจากทิศตะวันตกไปตะวันออก ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้มวลอากาศเย็นจากขั้วโลกแผ่ขยายลงมาทางใต้ แต่ด้วยการที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้กระแสลมกรดดังกล่าวอ่อนกำลังลงและขยายไปยังประเทศจีนและภูมิภาคอื่น ๆ ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นจัดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การที่มวลอากาศเย็นแผ่ขยายลงมาทางใต้ยังส่งผลให้เกิดความกดอากาศสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดอากาศหนาวเย็นผิดปกติ และยาวนานกว่าปีก่อน ๆ (3)
สภาพอากาศที่หนาวเย็นในไทยยังส่งผลให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นทำให้อากาศปิด การสะสมของฝุ่นละอองในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ (3)
อีกฟากหนึ่งของโลก เกิดไฟป่าโหมไหม้บ้านเรือนประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของลอสแอนเจลิส และได้คร่าชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 10 ราย เจ้าหน้าที่ต้องสั่งอพยพประชาชนเกือบ 180,000 คน และเผาผลาญพื้นที่ไปหลายแสนไร่ (5) (6)
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ไฟป่าเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงกว่าในอดีต ความร้อนและความแห้งแล้งในปีที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งให้เกิดสถานการณ์ไฟป่าในปัจจุบัน แม้ว่าปริมาณฝนที่ตกมากในช่วงสองปีที่ผ่านมาในแคลิฟอร์เนียจะช่วยให้พืชพรรณเติบโต แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนและฤดูหนาวที่แห้งแล้ง พืชเหล่านี้กลับกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ไฟลุกลามได้ง่ายขึ้น (6)
ลมซานตาอานาที่พัดแรงถึง 129 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียลุกลามอย่างรวดเร็ว ลมเหล่านี้นอกจากจะพัดเปลวไฟให้แพร่กระจายไปในวงกว้าง ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่ต้องควบคุมไฟป่าในพื้นที่ลาดชัน (4)
ผลกระทบจากไฟป่าครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ว่าสูงถึง 1.97 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ควันไฟที่ลอยฟุ้งไปไกลยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศในพื้นที่ใกล้เคียง และสุขภาพของประชาชนในระยะยาว (5)
ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับหิมะตกหนักที่สุดในรอบปีที่โทไคและโฮคุริกุในภูมิภาคทางตอนเหนือและตะวันตกโดยบางพื้นที่หิมะสะสมสูงถึง 70 เซนติเมตร สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเดินทาง รถไฟชินคันเซ็นในภูมิภาคโฮคุริกุต้องลดความเร็วลงหรือหยุดให้บริการชั่วคราวในบางสาย และทางด่วนบางส่วนต้องปิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การเตรียมพร้อมรับมือของญี่ปุ่นแม้จะมีประสิทธิภาพ แต่ภัยพิบัติเช่นนี้ได้สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม (7) (8)
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า สภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้คือผลพวงของภาวะโลกร้อนที่เร่งให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิอากาศโลก และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน เช่น ฤดูหนาวที่หนาวจัดหรือฤดูร้อนที่ร้อนจัด ไม่เพียงกระทบต่อมนุษย์แต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศอย่างรุนแรง (9)
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กำลังเตือนเราว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์เป็นทางรอดและจำเป็น การใช้พลังงานทดแทนและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแนวทางที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตนี้ได้ แต่หากยังไม่ลงมือทำ อนาคตของโลกอาจเต็มไปด้วยสภาพอากาศสุดขั้วที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อีกต่อไป (10)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรมอุตุนิยมวิทยา
(2) ฐานเศรษฐกิจ, กรมอุตุนิยมวิทยา เผยสภาพอากาศวันนี้ ไทยหนาวเย็นที่สุดในรอบปี
(3) ไทยโพสต์ : อิสรภาพแห่งความคิด, นักวิชาการ มีคำอธิบาย ‘ทำไม? ประเทศไทยปีนี้จึงหนาวเย็นมากกว่าปกติ’
(4) Why wildfires are becoming faster and more furious, BBC News.
(5) BBC News ไทย, ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย : สถานการณ์ยังน่ากังวล เปิดสาเหตุไฟโหมรุนแรงหนัก, ไฟป่าแคลิฟอร์เนียโหมรุนแรง สาเหตุมาจากอะไร เรารู้อะไรแล้วบ้าง?
(6) BBC News ไทย, ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่าในแอลเอ, ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่ารุนแรงในแคลิฟอร์เนียอย่างไร?
(7) Sea of Japan coast braces for heavy snow, possible traffic disruption, JapanToday.
(8) Heavy snow hits north, west Japan, 100 vehicles temporarily stranded., Kyodo News+
(9) Climate Change Indicators : Weather and Climate, EPA : United States Environmental Protection Agency.
(10) Greenhouse gases emissions and global climate change : Examining the influence of CO2, CH4, and N2O., ScienceDirect.