ประเทศไทยยังคงเผชิญกับวิกฤตมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในทุกปี โดยช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ทั้งช่วงเวลาของการเกิดปัญหาและระดับความรุนแรงของ PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่และพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่ง PM2.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่สุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศอีกด้วย (1)
ปัญหาฝุ่น PM2.5 มักจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) และฤดูร้อน (มีนาคม-เมษายน) เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งและลมสงบในสองช่วงฤดูนี้ ทำให้ฝุ่น PM2.5 สะสมอยู่ในอากาศมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวโดยรวม อันเนื่องมาจากทัศนียภาพที่ไม่แจ่มใส และข้อกังวลด้านสุขภาพ (1)
สาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยนั้นมาจากหลายปัจจัยที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่า การการเผาในที่โล่งหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การเผาขยะ ที่ถือเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ในการก่อให้เกิดมลพิษอากาศ นอกจากนี้ ระบบขนส่งในเขตเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นก็เป็นอีกแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่น PM2.5 (1) รถยนต์ดีเซลก็ถูกระบุให้เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยมลพิษทางอากาศอีกด้วย (5)
อีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามคือ ภาคอุตสาหกรรมโดยโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งยังคงปล่อยมลพิษทางอากาศ และเป็นหนึ่งในอีกสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ยิ่งไปกว่านั้นสภาพอากาศที่แห้งและลมสงบยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ฝุ่น PM2.5 สะสมอยู่ในอากาศมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้เมื่อทำงานร่วมกัน จึงทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทายในการแก้ไขอย่างยิ่ง (1)
แม้สถานการณ์ PM2.5 จะยังคงน่ากังวล แต่ภาครัฐก็มีความพยายามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ไขหลายอย่าง เช่น การควบคุมการเผาในที่โล่ง การปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จลุล่วง (1)
แม้ว่าภาพรวมของประเทศในปี 2567 ปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงจะลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตของปีก่อนหน้า แต่ในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันตก กลับมีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 211 และในช่วงเวลาใกล้เคียงนี้ คาดการณ์ว่าฝุ่นละอองจะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (2)
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และเตรียมรับมือสถานการณ์อย่างเข้มข้น พร้อมสื่อสารอย่างรวดเร็วในทุกระดับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรการนี้จะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขต และระดับจังหวัด (2)
มาตรการดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่ระยะเตรียมการ เช่น การจัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา และแผนปฏิบัติการจัดการไฟป่า ไปจนถึงการจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงการจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยมีการควบคุมการเผาและส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต นอกจากนี้ ยังมีมาตรการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง เช่น การจำกัดการเข้าเมืองของรถบรรทุกขนาดใหญ่ในช่วงวิกฤต การสนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะ และการตรวจจับรถยนต์ควันดำ (2)
ในส่วนของการจัดการหมอกควันข้ามแดน รัฐบาลจะส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา และหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าหมายที่จะลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ป่าร้อยละ 25 และลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรและพืชเป้าหมายร้อยละ 10 – 30 รวมถึงควบคุมฝุ่นจากยานพาหนะและโรงงานในพื้นที่เมืองอย่างเข้มงวด เป้าหมายโดยรวมคือการลดค่าเฉลี่ย PM2.5 ลงร้อยละ 5 – 15 และลดจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานลงร้อยละ 5 – 10 (2)
กรมควบคุมมลพิษให้ข้อมูลว่า ปกติแล้วค่า PM2.5 จะสูงในช่วงการเปลี่ยนฤดูกาลจากฤดูหนาวไปสู่ฤดูร้อน แม้ว่าการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ อาจจะเท่าเดิม แต่สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝุ่นละอองไม่กระจายตัวและเกิดการสะสมของมลพิษ เช่น ความเร็วลม กระแสลม และการเกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (3)
ในฤดูหนาวนั้นสภาพความกดอากาศสูง โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ทำให้พื้นดินคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินเย็นตามไปด้วย อากาศที่เคยร้อนลอยขึ้นไปคั่นอยู่ระหว่างชั้นอากาศเย็น ซึ่งเรียกว่า ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature inversion) ปรากฏการณ์นี้ทำให้อากาศไม่สามารถลอยตัวขึ้นในแนวดิ่งได้ เหมือนมีฝาชีหรือโดมครอบไว้ จึงเกิดการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศ ประกอบกับลมสงบและการไหลเวียนถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นละออง หมอก และควัน สะสมในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น (3)
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครในปี 2568 ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น แม้ว่าในปี 2567 ที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพฯ จะสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ลดลงจากปีก่อนหน้า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 และ 2568 พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ในช่วงต้นเดือนมกราคม กลับพุ่งสูงขึ้นในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (4)
ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2568 ประเทศไทยเผชิญกับอากาศหนาวเย็นมากกว่าปกติ เนื่องจากมวลอากาศเย็นจัดจากจีนแผ่ปกคลุม ทำให้เกิดลักษณะคล้ายฝาชีครอบ ฝุ่นพิษจึงถูกกักไว้ในชั้นบรรยากาศ ไม่สามารถกระจายออกไปได้ ค่าฝุ่นจึงพุ่งสูงจนเกินมาตรฐาน (4)
สำหรับต้นกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ นั้นส่วนใหญ่มาจากการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล ตามมาด้วยการเผาในที่โล่ง และมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือ ปริมาณฝุ่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มิใช่ฝุ่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยตรง แต่เป็นมลพิษที่ถูกพัดพามาจากนอกพื้นที่ (4)
เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว คณะกรรมการควบคุมมลพิษ (กก.คพ.) ยังได้ให้ความเห็นชอบมาตรฐานควบคุมการระบายมลพิษทางด้านอากาศที่เข้มข้นขึ้น ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มาตรฐานใหม่นี้ รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถจักรยานยนต์ใหม่ให้เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และไนโตรเจนออกไซด์ รวมถึงควบคุมฝุ่นละอองและไฮโดรคาร์บอนที่ไม่ใช่มีเทน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2572 นอกจากนี้ ยังมีการปรับเกณฑ์มาตรฐานควันดำจากรถยนต์ดีเซลให้เข้มงวดขึ้น จากเดิมไม่เกินร้อยละ 30 เป็นไม่เกินร้อยละ 20 (5)
หลายประเทศทั่วโลกก็เผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศเช่นเดียวกับประเทศไทย และได้มีการนำโมเดลการจัดการที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ จีนเป็นตัวอย่างที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านการจัดการคุณภาพอากาศ โดยธนาคารโลกได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการนำโมเดล GAIN มาใช้ในเขตสามเหลี่ยม “จิงจินจี่” ซึ่งช่วยลดความเข้มข้นเฉลี่ยต่อปีของฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเน้นการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของประสิทธิผลเทียบต้นทุน (6)
เวียดนามเองก็ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลกในการวิเคราะห์แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงฮานอย และพัฒนาโมเดลคุณภาพอากาศ โดยใช้การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของประสิทธิผลเทียบต้นทุนในการกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ข้อค้นพบที่สำคัญคือ PM2.5 ในฮานอยมีแหล่งกำเนิดจากภายนอกเมืองถึงสองในสาม ทำให้ต้องทำงานร่วมกับจังหวัดข้างเคียง และประเทศเพื่อนบ้าน (6)
กรุงอัมสเตอร์ดัมในประเทศเนเธอร์แลนด์ใช้ “แผนปฏิบัติการฟ้าใส” โดยมุ่งเน้นไปที่แหล่งกำเนิดมลพิษที่เทศบาลนครสามารถควบคุมได้ เช่น การจราจร และมีการให้เงินอุดหนุนและส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งกำหนดเขตปลอดมลพิษ ส่วนลอนดอนในสหราชอาณาจักรได้กำหนดเขตพื้นที่การปล่อยมลพิษต่ำขั้นสุด (Ultra Low Emission Zone) และคิดค่าธรรมเนียมกับยานพาหนะที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งช่วยลดมลพิษได้อย่างมาก ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการมีมาตรการที่ชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหา PM2.5 (6)
สำหรับประชาชนทั่วไป การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือเดินทางด้วยจักรยานหรือเดินเท้ามากขึ้น การประหยัดพลังงานและการปลูกต้นไม้ก็เป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ (1)
อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นความท้าทายในยุคโลกรวนที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้แหล่งที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตในทุกพื้นที่ของประเทศมีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ และประชาชนมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
(1) กรมประชาสัมพันธ์ : PRD (The Government Public Relations Departmnet), สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย
(2) กรมควบคุมมลพิษ (Pollution Control Department), “คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และเตรียมการรับมือ ในปี 2568”
(3) โครงการศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (GCC : Government Cotact Center), กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยฤดูหนาว ทำไมฝุ่นสูง
(4) ThaiHealth Resource Center : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ปี 2568 ฝุ่น PM 2.5 คลุมเมือง วิกฤตมลพิษอากาศของคนกรุง
(5) กรมควบคุมมลพิษ (Pollution Control Department), กก.คพ. ให้ความเห็นชอบมาตรฐานการระบายมลพิษเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 – ควบคุมน้ำเสีย ที่เข้มขึ้น
(6) Thai PBS, Policy Watch : จับตาอนาคตประเทศไทย, เปิดโมเดลแก้ PM 2.5 จากต่างชาติ “ได้ผล-ยั่งยืน”