กรมลดโลกร้อน ร่วมบรรยาย “Why Go Green ในหลักสูตร NIDA BCG”

เมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ Why Go Green ในหลักสูตร NIDA Bio Circular Green-Economy Executive Program (NIDA BCG) จัดโดยคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรภาครัฐและภาคเอกชนในการตอบโจทย์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ
ดร.พิรุณ กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ เป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ แนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงมาตรการและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืนและคาร์บอนต่ำ
ทั้งนี้ หลักสูตร NIDA BCG เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ วิสัยทัศน์ และพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งสร้างเครือข่ายของผู้นำและผู้บริหารระดับสูงทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถนำประสบการณ์ที่ได้ไปตอบโจทย์การบริหารองค์กรในยุคที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไปพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ร่วมเป็นวิทยากร “National Policies for Sustainability” ในหลักสูตร Top Green รุ่นที่ 1

เมื่อวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นวิทยากรในหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูงสำหรับผู้นำที่มองไกลกว่าความยั่งยืน (TOP GREEN Executive Program: Together for Our Planet) ในหัวข้อ National Policies for Sustainability ที่จัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนายประวิทย์ ประกฤติศรี รองประธานหอการค้าไทย และ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ โรงแรม Chatrium Hotel Riverside Bangkok โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Top Green รุ่นที่ 1 จำนวน 58 ท่าน
โดยนายปวิช เกศววงศ์ ได้บรรยายเกี่ยวกับ ทิศทางนโยบายของประเทศไทยต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และการผลักดันการดำเนินงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) อาทิ เช่น (ร่าง) พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ … แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และผลกระทบของประเทศไทยจากการปรับนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน บูรณาการหน่วยงานสื่อสารเชิงรุก สร้างความตระหนักรู้ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมคณะทำงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ครั้งที่ 1/2568 เพื่อบูรณาการสื่อสารเชิงรุกและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะทำงาน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รองประธานคณะทำงาน นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เลขานุการฯ คณะทำงานจากหน่วยงานภายในกรมฯ และหน่วยงานภายนอกรวม 19 หน่วยงาน รวมผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน
โดยที่ประชุมได้หารือแนวทางการดำเนินงานและแผนการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าในและความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี 2568 มีประเด็นการสื่อสารที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ความรู้ สถานการณ์ ความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกและระดับประเทศ 2) นโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) การลดก๊าซเรือนกระจก 4) การปรับตัวและการสร้างขีดความสามารถเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 5) การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6) การวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม กิจกรรม 7) กิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ?? การจัดการผลกระทบจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในการบูรณาการข้อมูลการสื่อสารเชิงรุกและการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการขยายผลการสื่อสารผ่านกลไกและช่องทางของหน่วยงานโดยเฉพาะช่องทางของกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ไปสู่ทุกภาคอย่างเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ คณะทำงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ รวมจำนวน 19 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอนามัย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ต้นไม้ฟอกอากาศ ช่วยดูดฝุ่น PM2.5

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ฝุ่น PM 2.5 นั้น ในปัจจุบันทวีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ฝุ่น PM2.5 นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศทั้งบดบังทัศนียภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคเยื่อบุตาอักเสบ และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดอีกด้วย
ท่ามกลางวิกฤติมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาระดับประเทศและยากจะแก้ไข เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ลดความเสี่ยงที่จะได้รับมลพิษทางอากาศนี้ นอกจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้ว “การปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ” เป็นหนึ่งทางเลือกที่ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ไม่เพียงช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและปล่อยออกซิเจนบริสุทธิ์ แต่ต้นไม้บางชนิดยังมีคุณสมบัติพิเศษในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก กักเก็บสารพิษ และช่วยลดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างต้นไม้ที่นิยมปลูกเพื่อฟอกอากาศ เช่น
– ต้นยางอินเดีย ต้นไม้ใบกว้างที่โดดเด่นเรื่องการดูดซับสารพิษในอากาศ เหมาะสำหรับการตกแต่งภายในบ้านให้มีสไตล์มินิมอล สามารถช่วยลดสารพิษประเภทฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ได้ดี ดูแลง่ายเพียงเช็ดใบให้สะอาดและรดน้ำวันละครั้ง หลีกเลี่ยงการปล่อยให้ดินแฉะเกินไปและควรตั้งในที่มีแสงแดดรำไร
– ต้นลิ้นมังกร ต้นไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการปล่อยออกซิเจนตอนกลางคืน ทำให้เหมาะสำหรับตั้งในห้องนอน สามารถดูดซับสารพิษประเภทเบนซีน (Benzene), ไตรคลอโรเอทิลีน (Trichloroethylene) และฟอร์มาลดีไฮด์ได้ดี ดูแลง่าย หากวางในร่มให้รดน้ำเพียงสัปดาห์ละครั้ง แต่ถ้าวางในที่มีแสงแดดอ่อนๆ ควรรดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
– ต้นเดหลี พืชที่มีความสามารถพิเศษในการดูดซับสารพิษ เช่น แอมโมเนีย (Ammonia), ไซลีน (Xylene) และฟอร์มาลดีไฮด์ ช่วยทำให้อากาศภายในห้องสะอาดขึ้น เหมาะสำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงหรือเด็กเล็ก ต้องการความชื้นปานกลาง ควรรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และนำไปรับแสงแดดรำไรเป็นครั้งคราว
– ต้นมอนสเตอร่า ต้นไม้ฟอกอากาศที่มีใบขนาดใหญ่ ช่วยดักจับฝุ่นละอองในอากาศได้ดี และสามารถดูดซับสารพิษอย่างฟอร์มาลดีไฮด์และเบนซีนได้ถึง 60-70% เลี้ยงง่าย เพียงรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด
– ต้นพูลทอง มีความสามารถในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 75% ในพื้นที่ปิด เหมาะสำหรับตั้งในห้องทำงานหรือห้องนั่งเล่นเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศ สามารถเลี้ยงในน้ำได้ เพียงให้โดนแดดรำไร และเติมน้ำสะอาดอยู่เสมอ
– ไทรใบสัก เป็นต้นไม้ยอดนิยมที่ช่วยฟอกอากาศได้ดีพอๆ กับต้นยางอินเดีย มีความสามารถในการดักจับฝุ่นและลดสารพิษในอากาศ ดูแลง่ายเพียงหมั่นเช็ดใบให้สะอาดและรดน้ำอย่างเหมาะสม
– สาวน้อยประแป้ง พืชฟอกอากาศที่ช่วยกรองมลพิษภายในบ้านได้ดี สามารถลดสารพิษในอากาศ เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์และเบนซีนได้ มีความทนทานและต้องการน้ำไม่มาก ควรรดน้ำวันละครั้งและให้โดนแดดอ่อนๆ ยามเช้าเพื่อให้ใบมีสีสดขึ้น
– ต้นกระบองเพชร (Caribbean Tree Cactus) และแคคตัสสายพันธุ์อวบน้ำพืชที่สามารถดูดซับสารพิษในอากาศได้ดี โดยเฉพาะฟอร์มาลดีไฮด์และคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องการแสงแดดจัด และรดน้ำเพียงสัปดาห์ละครั้ง เหมาะสำหรับวางไว้ในห้องทำงานหรือมุมที่มีแสงแดดเพียงพอ
การปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เราลดความเสี่ยงที่จะได้รับมลพิษทางอากาศและยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับที่พักอาศัย นอกจากจะปลูกต้นไม้ฟอกอากาศแล้วควรใช้เครื่องฟอกอากาศควบคู่ไปด้วย เพื่อให้อากาศที่เราได้รับมีความบริสุทธิ์หรือมีมลพิษน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นการตั้งรับปรับตัวในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูงในปัจจุบัน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– เทคโนโลยีชาวบ้าน, 8 ต้นไม้ฟอกอากาศ แต่งห้องสวยแถมช่วยกรองฝุ่น
– Areeya, 8 ต้นไม้ฟอกอากาศในบ้าน นวัตกรรมธรรมชาติเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
– ไทยรัฐออนไลน์, 30 สุดยอดต้นไม้ฟอกอากาศ มีอะไรบ้าง

กรมลดโลกร้อน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ครั้งที่ 1

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Climate Action)” ณ โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ อารีย์ บาย ยูเอชจี โดยมีนายกิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นางสาวอุมา ศรีสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เข้าร่วมการประชุม สำหรับการประชุมดังกล่าว สส. ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และบริษัท แอดเวนเทจ คอนซัลติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยเน้นถึงผลกระทบที่แตกต่างกันในบริบทของเพศและสังคม (Gender and Social Inclusive) บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบในการกำหนดนโยบายและการนำไปปฏิบัติ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นปัญหาและความท้าทายในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคม ซึ่งข้อคิดเห็นจากการประชุมในครั้งนี้จะถูกนำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อจัดทำเป้าหมาย มาตรการ และกรอบการดำเนินงานของแผนแม่บทฯ ในลักษณะการบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม (Just Transition) และการมีส่วนร่วมทางสังคมที่ครอบคลุมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สส. ได้กำหนดให้มีจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังและสะท้อนมุมมองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมิติสำคัญอื่น ๆ อาทิ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อปรับปรุงให้แผนแม่บทฯ มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ประจำปี พ.ศ. 2568

วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ประจำปี พ.ศ. 2568 ณ กระโจมแตร สวนหลวง ร.9 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมทรัพยากรน้ำ โดยมี นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด นายธีระชุณ บุญสิทธิ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารจากหลากหลายภาคส่วน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา จำนวนกว่า 500 คน
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นำเจ้าหน้าที่เข้าร่วมงาน และร่วมจัดนิทรรศการ ในหัวข้อ การตั้งรับ ปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาขาการจัดการทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย การเสวนา: หัวข้อ “รู้คุณค่า ร่วมปกป้อง สร้างแรงขับเคลื่อน” แลกเปลี่ยนแนวคิดด้านนโยบายและการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ฐานการเรียนรู้: เสริมสร้างความรู้เยาวชนด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ และนิทรรศการ: ให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมความรู้ ความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

2 กุมภาพันธ์ : วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day)

“PROTECTING WETLANDS FOR OUR COMMON FUTURE – Value, Protect, Inspire”
หรือ “ปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่ออนาคตของเรา – รู้คุณค่า ร่วมปกป้อง สร้างแรงขับเคลื่อน”

ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญและป้องกันไม่ให้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 700,000 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่อยู่ในดินพรุ และมีคาร์บอนกักเก็บได้ 96 ล้านตันต่อปี ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำจึงสามารถช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ นอกจากนี้ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำยังสามารถปรับตัวรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์ได้อีกด้วย
ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ เนื่องจากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำมีบทบาทในการหล่อเลี้ยงทุกชีวิต แต่กำลังเผชิญกับภัยคุกคาม การส่งเสริมความร่วมมือ รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก และปกป้องระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญนี้ไปด้วยกัน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– Wetlands & Climate Change, Department of Ecology State of Washington, n.d.
– World Wetlands Day เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก, Greenpeace, 2022

ปลูกป่า – เพิ่มพื้นที่สีเขียว การสร้าง ‘ปอดของโลก’ ที่ยั่งยืน

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและการปลูกป่า ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกเพื่อความยั่งยืนในอนาคต แต่ยังเป็นการตอบสนองต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ หลายเมืองใหญ่ของโลกเริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูระบบนิเวศภายในเมือง โดยหันมาพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีตัวอย่างที่น่าสนใจจากหลายประเทศ ซึ่งต่างริเริ่มและสานต่อโครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและผืนป่า เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตไปพร้อมกับลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการผลิตน้ำมัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยูเออีได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เช่น โครงการ “Dubai Green Spine” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญที่สุดในการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เมืองดูไบ โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนถนน Sheikh Mohammed Bin Zayed (E311) ให้กลายเป็นทางเดินสีเขียวที่ยาวถึง 64 กิโลเมตร โดยจะมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดการพึ่งพาการใช้รถยนต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง (1)
โครงการยักษ์ใหญ่นี้มีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2040 ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นโครงการขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบาย แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน ทั้งในแง่การทำเกษตรในเมือง การปลูกต้นไม้พื้นเมือง และการลดอุณหภูมิในเมือง การพัฒนาเหล่านี้จะช่วยให้ประชาชนได้สัมผัสกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันเมืองยังสามารถรับมือกับปัญหาสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่การเดินเล่น การออกกำลังกาย ไปจนถึงการพักผ่อนในสวนสาธารณะ (1)
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองในธรรมชาติ” (City in Nature) ซึ่งมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองให้เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการส่งเสริมโครงการต่าง ๆ เช่น การสร้างสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวใหม่ ๆ ทั่วเมือง ตลอดจนการปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ และที่พักอาศัย รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างและดูแลพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ โครงการ “Singapore Green Plan 2030” ของสิงคโปร์จึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองให้มีความยั่งยืน และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต (2)
สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 200 เฮกตาร์ภาย (ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร) ในปี ค.ศ. 2030 และยังมีโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นทั่วประเทศภายในปีเดียวกัน โดยมีการสร้างสวนธรรมชาติ และฟื้นฟูระบบนิเวศในเขตเมือง เพื่อลดผลกระทบจากคลื่นความร้อนและมลพิษทางอากาศ ที่สำคัญคือการใช้พื้นที่สีเขียวในการเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมือง (2)
ตัวอย่างโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากทวีปอเมริกาใต้ คือการสร้างพื้นที่คุ้มครองใหม่ในโบลิเวียที่มีชื่อว่า “El Gran Manupare” ซึ่งครอบคลุมกว่า 452,639 เฮกตาร์ (ประมาณ 4,526.39 ตารางกิโลเมตร) ในพื้นที่ป่าแอมะซอนตอนเหนือ การจัดตั้งพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “โมเสกการอนุรักษ์” หรือการสร้างเครือข่ายของพื้นที่คุ้มครอง หรือเขตอนุรักษ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกัน เพื่อเพิ่มความต่อเนื่องของระบบนิเวศและพื้นที่สีเขียว โดยเชื่อมต่อกับพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ เช่น Reserva Nacional de Vida Silvestre Amazónica Manuripi ทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวรวมกว่า 10 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร) ในภูมิภาค พื้นที่ใหม่แห่งนี้มีเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3)
การขยายพื้นที่สีเขียวของโบลิเวียถือเป็นการเพิ่มความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ ซึ่งมีการวางแผนร่วมกับองค์กรต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าแอมะซอนที่เป็นปอดของโลก พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงแต่ช่วยกักเก็บคาร์บอน แต่ยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ เพิ่มความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่นในระยะยาว นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรอนุรักษ์ และชุมชนพื้นเมืองในการดูแลและรักษาพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ (3)
อีกหนึ่งแนวทางของประเทศในทวีปแอฟริกาที่น่าสนใจคือ โครงการปลูกต้นไม้ประจำปีภายใต้ชื่อ “Green Ghana Day” ของประเทศกานา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา กานาตั้งเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้ถึง 10 ล้านต้น ซึ่งถือเป็นความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของป่าไม้ (4)
โครงการนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2564 และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยในแต่ละปีมีการตั้งเป้าหมายการปลูกต้นไม้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของป่าไม้ และลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศ ความพยายามนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระดับชาติที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ในด้านการจัดการป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4)
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการปลูกป่าในเมือง และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกถือเป็นการดำเนินการโครงการที่สำคัญ มีผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศต่าง ๆ ในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ไม่เพียงแค่ในแง่ของการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว การลงทุนในพื้นที่สีเขียวไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ แต่ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่น ๆ ในการเดินตามรอยการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทุกการกระทำล้วนส่งผลดีต่อโลกของเราในอนาคต

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– World’s greenest highway combines cutting-edge sustainability, enhanced community living, and pioneering green infrastructure to redefine urban mobility., DUBAI GREEN SPINE 64KM SUSTAINABLE HIGHWAY, URB : A Global Leader in Developing Sustainable Cities
– National Parks, Singapore Government Agency
– In Bolivia, a ‘conservation mosaic’ gets another (big) piece, Conservation International : Fighting to Protect Nature for People.
– Ghana to plant 10 million trees in the 2024 Edition of Green Ghana Day – Minister for Lands and Natural Resources, Ministry of Information, Ghana