หลักสูตร การจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สำหรับผู้ปฏิบัติงาน รุ่นที่ 4

รายละเอียดหลักสูตร : การจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สำหรับผู้ปฏิบัติงาน รุ่นที่ 4

ระหว่างวันที่ : 29 เมษายน 2568

จำนวนผู้เข้าอบรม/กิจกรรม : 120 คน

สถานที่จัดกิจกรรม : จังหวัดสุราษฏร์ธานี

รูปแบบกิจกรรม : ONSITE

ฟรีค่าลงทะเบียน พร้อมรับใบประกาศนียบัตร

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โทร.02-577-4182-5 ต่อ 3615 ,3612

Link : เพิ่มเติม

หลักสูตร การจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สำหรับผู้ปฏิบัติงาน รุ่นที่ 3

รายละเอียดหลักสูตร : การจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สำหรับผู้ปฏิบัติงาน รุ่นที่ 3

ระหว่างวันที่ : 22 เมษายน 2568

จำนวนผู้เข้าอบรม/กิจกรรม : 120 คน

สถานที่จัดกิจกรรม : จังหวัดอุดรธานี

รูปแบบกิจกรรม : ONSITE

ฟรีค่าลงทะเบียน พร้อมรับใบประกาศนียบัตร

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โทร.02-577-4182-5 ต่อ 3615 ,3612

Link : เพิ่มเติม

หลักสูตรการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)

รายละเอียดหลักสูตร : หลักสูตรการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)

ระหว่างวันที่ : 5 – 7 มีนาคม 2568

จำนวนผู้เข้าอบรม/กิจกรรม : 150 คน

สถานที่จัดกิจกรรม : โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว กรุงเทพมหานคร

MAP : http://maps.app.goo.gl/FTLChiaymJWAyoob8

รูปแบบกิจกรรม : ONSITE และ ONLINE

ฟรีค่าลงทะเบียน พร้อมรับใบประกาศนียบัตร

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โทร.02-577-4182-5 ต่อ 3615 ,3612

หลักสูตร EIA ปีงบประมาณ 68

ภาพรวม… แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573

เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (หรือ NDC) ที่ร้อยละ 30 – 40 จากกรณีปกติ ณ ปี พ.ศ.2573 โดยแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ.2564 – 2573 นี้ จัดเป็นแผนระดับ 3 ที่บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบหลักรายสาขา ทั้ง 5 สาขา ดังนี้
– สาขาพลังงาน โดยสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน
– สาขาคมนาคมขนส่ง โดยสำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) กระทรวงคมนาคม
– สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
– สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ
– สาขาเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เป็นหน่วยประสานงานกลางของประเทศ
คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไว้ที่ 222.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) หรือ ร้อยละ 40 ณ ปี พ.ศ. 2573 ซึ่งแบ่งเป็น… เป้าหมายที่ สามารถดำเนินการได้เองในประเทศ (หรือ Unconditional) 184.8 MtCO2eq (หรือร้อยละ 33.3)
เป้าหมายที่สามารถดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ (หรือ Conditional) 37.5 MtCO2eq (หรือร้อยละ 6.7)
** ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แผนฉบับนี้ได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอีก ไม่เกินร้อยละ 3 ในกรณีที่ใช้กลไกบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ Article 6
โดยเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี พ.ศ. 2573 ที่ประเทศไทยต้องดำเนินการเองให้ได้ คือ 184.8 MtCO2eq (หรือร้อยละ 33.3) แบ่งเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้
– สาขาพลังงาน 124.6 MtCO2eq
– สาขาคมนาคมขนส่ง 45.6 MtCO2eq
– สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม 9.1 MtCO2eq
– สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมฯ 1.4 MtCO2eq
– สาขาเกษตร 4.1 MtCO2eq
ในส่วนของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงอีก 6.7 % และ 3% ประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ และใช้กลไก Article 6

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

NDC Action Plan 2021-2030_Final (2025.04.09)

โจทย์ท้าทาย COP28 สู่ COP29 การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 เมื่อปี 2566 ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้บรรลุข้อตกลง “เปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล” (Transition away from fossil fuel) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อพยายามไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเลวร้ายลงไปกว่านี้ และจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (°C) เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยสาระสำคัญภายใต้ข้อตกลงนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนเป็นสามเท่าทั่วโลก ภายในปี พ.ศ.2573 และเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยเฉลี่ยทั่วโลกเป็นสองเท่า ภายในปี พ.ศ.2573 (1)
การตั้งเป้า Triple UP, Double Down หรือการเพิ่มปริมาณพลังงานสะอาดให้ได้สามเท่าและพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานให้ดีขึ้นสองเท่าที่ว่า จำเป็นต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเติม และนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเร่ง แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประเทศที่ไม่มีคนและเทคโนโลยีพร้อม จะให้เลิกใช้ฟอสซิลทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในการประชุม COP29 จึงจะมีการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ชนพื้นเมือง เยาวชน กลุ่มคนในพื้นที่ขัดแย้ง หรือกลุ่มอาชีพที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม (A Just and Equitable Energy Transition) ซึ่งกลุ่มประเทศตะวันออกกลางยอมรับว่ายังไงก็ไม่สามารถออกจากฟอสซิลได้ คำว่า Transition ของเขาคือ ลด ละ แต่ไม่เลิก แค่จะไม่เสพติดพลังงานจากฟอสซิลอีกต่อไป (2)
ทำให้การประชุม COP29 ทั่วโลกจับตามองกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งเน้นการลดการใช้พลังงานฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น แต่ทว่าอุตสาหกรรมพลังงานโลกยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติที่อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในขณะนั้นประธาน COP28 จึงได้ริเริ่มโครงการ “Energy Transition Changemakers” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการลดการปล่อยมลพิษที่มีนวัตกรรมและขยายผลได้ทั่วโลก พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ช่วยสนับสนุน และเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (3)
บริษัทและองค์กรทุกขนาดจากทั่วโลกสามารถสมัครเข้าร่วมได้ โดยโครงการทุกประเภทในสี่ภาคส่วนสำคัญมีสิทธิ์จะได้รับการพิจารณา ได้แก่ การใช้พลังงานทดแทน การบูรณาการพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ และภาคการปล่อยก๊าซหนัก เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และอลูมิเนียม ทว่าในหลายประเทศยังมีแหล่งพลังงานหลักมาจากฟอสซิล (3)
การประชุม COP28 ได้ปิดฉากพร้อมกับข้อตกลงที่ส่งสัญญาณถึง “จุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด” ยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็ว เป็นธรรม และเท่าเทียม สนับสนุนด้วยการลดการปล่อยมลพิษอย่างจริงจังและการระดมทุนที่เพิ่มขึ้น ในสัญลักษณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระดับโลกจากผู้แทนเกือบ 200 ประเทศที่ไปรวมตัวกันที่ดูไบ และมีมติร่วมกันเกี่ยวกับ “การทบทวนระดับโลก” เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มระดับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศก่อนสิ้นทศวรรษนี้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อรักษาขีดจำกัดอุณหภูมิโลกที่ไม่เกิน 1.5°C (4)
การทบทวนระดับโลก (Global Stocktake) ถือเป็นผลลัพธ์สำคัญของ COP28 เนื่องจากครอบคลุมองค์ประกอบทุกด้านที่อยู่ระหว่างการเจรจา และจะถูกนำไปใช้โดยประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งมีกำหนดส่งภายในปี 2568 การทบทวนดังกล่าวยอมรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกต้องลดลง 43% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2562 เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5°C ซึ่งจะว่าไปในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายความตกลงปารีสได้ (4)
การทบทวนเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการระดับโลกเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้สามเท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นสองเท่าภายในปี 2573 รวมถึงเร่งลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน โดยที่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อลดมลพิษหรือจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ และมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในลักษณะที่เป็นธรรม มีระเบียบ และเท่าเทียม ประเทศพัฒนาแล้วยังคงต้องเป็นผู้นำในการดำเนินการ (4)
ในระยะสั้น มีการสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เสนอเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด ทุกภาคส่วน และทุกประเภท พร้อมทั้งสอดคล้องกับขีดจำกัด 1.5°C ในแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศรอบถัดไป (การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC) ซึ่งจะต้องยื่นภายในปี 2568 (4)
ทว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก อาทิ รัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งต้องเผชิญกับการปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (5)
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความต้องการพลังงานโลกที่ยังคงสูงและยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลดพลังงานฟอสซิลเป็นเรื่องท้าทาย แม้ว่าโลกจะมีความคืบหน้าในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วในบางภาคส่วน เช่น การผลิตไฟฟ้าและยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า แต่ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ ที่ปรับเปลี่ยนได้ช้ากว่าที่คาดไว้ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ การขนส่งทางเรือ และการบิน การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานฟอสซิลทั้งหมด ส่งผลให้การลดก๊าซเรือนกระจกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากการขาดกฎระเบียบที่ชัดเจนและการลงทุนที่ต่อเนื่องทั่วโลก นอกจากนี้ ต้นทุนการเปลี่ยนแปลงยังสูงมาก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหาในการยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตโดยไม่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (6)
ดังนั้น ความสำคัญอยู่ที่การสร้างนโยบายที่มั่นคงและส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลา แต่ความสำเร็จในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาดที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้ถือเป็นสัญญาณบวกที่อาจช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึงในอนาคต (6)
การที่พลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนฟอสซิลได้เต็มรูปแบบนั้น เป็นเหตุผลที่หลายประเทศยังต้องคงการใช้พลังงานฟอสซิลไว้ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศพยายามหาทางออกเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และเป็นธรรมต่อประเทศที่ยังพึ่งพาแหล่งพลังงานเหล่านี้ (7)
อย่างไรก็ดี องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เชื่อว่าในระยะยาวการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะเป็นไปได้ หากทุกประเทศมีการวางแผนที่ดีด้านนโยบายและได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน รวมถึงเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนั้น ประเทศต่าง ๆ ยังต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งรวมถึงการลดการพึ่งพาน้ำมันและการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อเป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับการผลิตพลังงาน (8)
ท้ายที่สุดนี้ การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไม่ใช่แค่การเลือกใช้พลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการวางแผนระบบพลังงานที่สมดุลและตอบโจทย์การใช้พลังงานที่ยังมีอยู่ การเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เมื่อความท้าทายการเปลี่ยนผ่านพลังงานยังคงอยู่ การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลกที่ผ่านมานี้จึงเป็นก้าวย่างสำคัญในการสร้างการพูดคุยระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อวางแผนและกำหนดทิศทางการใช้พลังงานให้เกิดความเป็นธรรม และไม่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สถาบันการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (สพท.). ศูนย์องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. Output/Outcomes COP28 โลกได้อะไร.
(2) iGreen. จับตา COP29 ลดพลังงานอย่างไร เมื่อกลุ่มตะวันออกกลางไม่เลิกฟอสซิล.
(3) COP28
(4) COP28 Agreement Signals “Beginning of the End” of the Fossil Fuel Era., UNFCCC : United Nations Framework Convention on Climate Change., United Nations Climate Change.
(5) Russia’ Great Energy Game in the Middle East., CARNEGIE : Endowment for International Peace.
(6) Why aren’t we reducing our reliance on fossil fuels faster?, World Economic Forum.
(7) Energy Transition Outlook : Renewables still not replacing fossil fuels in the global energy mix., DNV
(8) World Energy Outlook shows there are set to be almost 10 times as many electric cars on the road, with renewables nearing half of the global power mix, but much stronger policies needed for 1.5 °C., The energy world is set to change significantly by 2030, based on today’s policy settings alone., IEA

กรมลดโลกร้อน ยกระดับการสื่อสาร สร้างการรับรู้ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด “Power of Media for Stop Global Warming : พลังงานของสื่อเพื่อหยุดโลกร้อน”

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) จัดกิจกรรมยกระดับการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด “Power of Media for Stop Global Warming : พลังของสื่อเพื่อหยุดโลกร้อน” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้ากรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และประชาชนทั่วไปเข้ากิจกรรม จำนวน 100 คน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม และยังได้รับความสนใจจากผู้รับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางเพจกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นจำนวนมาก
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการใช้พลังของสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโซเชียลมีเดีย สื่อดิจิทัล หรือแม้แต่สื่อศิลปะ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนความคิดเห็น และแนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมีวิทยากรที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ในด้านการสื่อสาร ได้แก่ ผศ.ดร.พฤทธิ์ พุฒจร อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว สำนักวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลประยุกต์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย นางสาวพิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ Content Creator ช่อง PEAR is hungry และ Project Creator : aRoundP และนายนิธิ สมุทรโคจร ผู้ผลิตสื่อฯ นักแสดง และพิธีกรรายการสมุดโคจร ดำเนินรายการโดย คุณแจ็ค สุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ NBT 2 HD ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมนี้ยังมุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายของผู้ที่มีความสนใจในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายและสังคมต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

รู้หรือไม่… การซื้อเสื้อผ้ามือสอง ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เพียบ

ในยุคที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โลกกำลังเผชิญ “ปัญหาขยะ” ที่สะสมในปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะขยะสิ่งทอที่เป็นหนึ่งในปัญหาหลักทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 10% ของทั่วโลก และมีการคาดการณ์ว่าปริมาณเสื้อผ้าที่ผลิตใหม่จะเพิ่มขึ้นสามเท่าในอีก 30 ปีข้างหน้า หากไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภค ขยะสิ่งทอที่เกิดจาก “แฟชั่น” อาจทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (1)
การวิจัยพบว่าเส้นใยเพื่อการผลิตสินค้าโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับสูงสุดที่ 116 ล้านตันในปี 2565 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ในทางกลับกันอัตราการรีไซเคิลสิ่งทอกลับลดลงจาก 8.5% ในปี 2564 เหลือเพียง 7.9% ในปี 2565 นอกจากนี้ เส้นใยที่รีไซเคิลได้ส่วนใหญ่ยังมาจากขวดพลาสติก ไม่ใช่จากสิ่งทอที่ถูกใช้แล้วจริง ๆ โดยมีเพียงน้อยกว่า 1% เท่านั้นที่มาจากการรีไซเคิลสิ่งทอทั้งก่อนและหลังการใช้งานของผู้บริโภค (1)
ยิ่งไปกว่านั้น เสื้อผ้ายังถูกผลิตใหม่กว่า 100,000 ล้านชิ้นต่อปีทั่วโลก ซึ่งสร้างขยะสิ่งทอในแต่ละปีมากถึง 92 ล้านตัน หรือคิดเป็น 7% ของขยะในหลุมฝังกลบทั้งหมด และอุตสาหกรรมสิ่งทอปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 10% ของทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเมื่อเทียบกับการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งรวมกัน (2)
ดังนั้น ข้อดีของการซื้อสินค้ามือสองไม่เพียงแต่ช่วยลดขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าใหม่ แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ การวิจัยพบว่า การซื้อเสื้อผ้ามือสองสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 42% ลดการใช้พลังงานสะสม 27-42% (1) และลดการใช้น้ำได้ถึง 336 ลิตรต่อชิ้น (3)
ตลาดสินค้ามือสองทั่วโลกมีแนวโน้มว่า กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทว่าจากข้อมูลของ Loop Generation รายงานว่า แม้ 63% ของคนอังกฤษซื้อสินค้ามือสอง แต่ในตู้เสื้อผ้าของพวกเขามีเพียง 1-10% เท่านั้นที่เป็นสินค้ามือสอง ซึ่งสะท้อนว่า “ฟาสต์แฟชั่น” (Fast fashion) ยังคงครองตลาด การผลิตและทิ้งเสื้อผ้าอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้เกิดขยะสิ่งทอที่ย่อยสลายได้ยากจำนวนมหาศาล และสร้างปัญหามลพิษต่อดิน น้ำ และอากาศ (2)
การใช้น้ำในกระบวนการผลิต เช่น การผลิตกางเกงยีนส์หนึ่งตัวใช้น้ำถึง 7,570 ลิตร หรือการปล่อยสารเคมีและมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ การผลิตเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ ยังทำให้ “ไมโครพลาสติก” เล็ดลอดสู่มหาสมุทรถึง 500,000 ตันต่อปี ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เมื่อสะสมในร่างกายมนุษย์ในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง หรือขัดขวางการทำงานของหลอดเลือด และส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างรุนแรง (4)
เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ การเลือกสินค้ามือสองยิ่งเป็นทางเลือกที่ให้ผลลัพธ์เชิงบวกอย่างมาก ในปี 2022 คนอเมริกันซื้อเสื้อผ้ามือสองรวมกันกว่า 1,400 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นถึง 40% จากปีก่อนหน้า ซึ่งช่วยลดความต้องการผลิตเสื้อผ้าใหม่ลง อีกทั้งตลาดสินค้ามือสองยังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials ที่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และมองว่าแฟชั่นยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ การสำรวจพบว่า 61% ของคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับเทรนด์ความยั่งยืน และเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (3)
ข้อแนะนำการเลือกบริโภคอย่างยั่งยืน (5)(6)
– เลือกใช้ก่อนซื้อใหม่ ตรวจสอบว่ามีสินค้ามือสองหรือสินค้ารีไซเคิลที่ตอบโจทย์การใช้งานหรือไม่
– บริจาคหรือขายต่อ แทนที่จะทิ้งสินค้าที่ไม่ใช้แล้ว ลองบริจาคหรือขายต่อ เพื่อให้สินค้ามีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น
– สนับสนุนร้านค้าท้องถิ่น การซื้อสินค้ามือสองจากร้านค้าในชุมชนช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น
– คำนึงถึงคุณภาพ เลือกสินค้ามือสองที่มีคุณภาพดี เพื่อให้ใช้งานได้ยาวนานและลดความจำเป็นต้องซื้อใหม่บ่อยครั้ง
นอกจากนี้ การซื้อสินค้ามือสองยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน โดยร้านขายของมือสองส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยองค์กรการกุศล ซึ่งรายได้จากการขายถูกนำไปสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนและช่วยเหลือผู้ขาดแคลน การสนับสนุนร้านเหล่านี้จึงเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ (5)
อย่างไรก็ดี สินค้ามือสองไม่ได้จำกัดแค่เสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ซึ่งช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และลดความต้องการแร่ธาตุหายาก การเลือกใช้อุปกรณ์มือสองยังช่วยลดมลพิษจากกระบวนการผลิตใหม่ และลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศผู้ผลิต (6)
ดังนั้น การเลือกใช้สินค้ามือสองไม่ใช่เพียงการประหยัดเงินหรือการลดขยะ แต่คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ทุกครั้งที่เราตัดสินใจใช้สิ่งของที่ยังมีคุณค่าแทนการผลิตใหม่ เรากำลังช่วยยืดอายุการใช้งานของทรัพยากร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างสมดุลใหม่ให้กับระบบนิเวศ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ส่งต่อคุณค่าให้กับโลก สร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับพวกเราทุกคน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Do We Save the Environment by Buying Second-Hand Clothes? The Environmental Impacts of Second-Hand Textile Fashion and the Influence of Consumer Choices., Circular Economy.
(2) Why Buying Second-Hand Clothes Matters., Loop Generation.
(3) ไทยรัฐออนไลน์, Future Perfect, เสื้อผ้ามือสอง กำลังช่วยหยุดโลกจากหายนะสิ่งแวดล้อม
(4) ไทยรัฐออนไลน์, Future Perfect, Fast Fashion ความเร็วที่ทำให้โลกไม่ยั่งยืน
(5) 5 Ways Thrift Shopping Helps the Environment., FORT BEND WOMEN’S CENTER.
(6) SECONDHAND101, CENTER for BIOLOGICAL DIVERSITY.

ทำไม… ประเทศไทย ต้องส่งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)

จากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้เกิดข้อตกลงร่วมกันของประเทศภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ขึ้นมาเรียกว่า “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ที่มีข้อกำหนดให้ทุกประเทศภาคีสมาชิก UNFCCC จะต้องมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีสมาชิก UNFCCC ได้จัดส่ง เป้าหมายระยะยาว หรือ ที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ” (Thailand’s Long-term greenhouse gas emission development strategy : LT-LEDs) และเป้าหมายระยะสั้น หรือ “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” (Nationally Determined Contribution) ให้กับ UNFCCC เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
“ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ” หรือ LT-LEDs เป็นเสมือน “เข็มทิศ” ใน การพัฒนาประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และ ก๊าชเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 โดยมีมาตรการหลักที่สำคัญ ได้แก่
– การส่งเสริมการใช้ปูนชีเมนต์ไฮดรอลิค และการปลูกข้าวแบบปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ ภายในปี พ.ศ. 2568
– ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และลดการใช้ยานยนต์สันดาปภายใน ภายในปี พ.ศ. 2573
– ส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ภายในปี พ.ศ. 2578
– เพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวให้ได้ ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. 2580 (ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ)
– ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี CCS CCUS BECCS รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ ร้อยละ 68 ภายในปี พ.ศ. 2583
– ส่งเสริมการใช้พลังงานไฮโดรเจน ภายในปี พ.ศ. 2588
– ยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ ร้อยละ 74 ภายในปี พ.ศ. 2590 (ซึ่งเป็นปีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ)
ส่วน “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” ฉบับที่ 1 หรือ NDC1 ที่ประเทศไทยได้จัดส่ง UNFCCC ไปนั้น ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 30 ถึง 40 จากกรณีปกติ หรือ BAU ภายในปี พ.ศ. 2573
BAU หรือ Business As Usual หมายถึง ค่าประมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ณ ปี พ.ศ. 2573 ในกรณีที่ประเทศไทยมิได้ดำเนินการใดๆ เลย ซึ่งคาดประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ร้อยละ 30 หมายถึง เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกรณีที่เป็นการดำเนินการเองภายในประเทศ หรือคิดเป็น 167 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและอีก ร้อยละ 10 หมายถึง เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกรณีที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทั้งในด้านงบประมาณและเทคโนโลยี หรือคิดเป็น 55 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน บูรณาการหน่วยงานกำหนดตัวชี้วัดการปรับตัวฯ พัฒนาระบบติดตามประเมินผลรายสาขาของประเทศไทยสู่เป้าหมายระดับโลก

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษา “โครงการจัดทำฐานข้อมูลในการติดตามประเมินผลการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายสาขา” บูรณาการหน่วยงานจัดทำฐานข้อมูล กำหนดตัวชี้วัดเพื่อพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการปรับตัวฯ รายสาขาของประเทศไทยสู่เป้าหมายระดับโลก โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานประสานงานกลางด้านการปรับตัวฯ 6 สาขา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทุกประเทศมีความเข้มข้นมากขึ้น และกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิก จัดส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี (BTR) และรายงานแห่งชาติ (NC) ทุก 4 ปี รวมถึงมีการจัดทำรายงานการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินการระดับโลก (Global Stocktake: GST) ทุก 5 ปี เพื่อสะท้อนถึงความก้าวหน้าของโลกในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในส่วนของการติดตามการดำเนินงานด้านการปรับตัวในระดับโลกจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน อยู่ระหว่างการพัฒนาชุดตัวชี้วัดภายใต้เป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลก (Global Goal on Adaptation: GGA) มาตรา 7 ของความตกลงปารีส และจะได้ข้อสรุปของชุดตัวชี้วัดในการประชุม COP30 ณ เมืองเบเลม สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ปลายปีนี้ โดยการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ ของประเทศไทย ได้มีแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) ที่ครอบคลุม 6 สาขา (การจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่การวิเคราะห์ความเสี่ยง การจัดทำแผน การดำเนินงานตามแผนและการติดตามประเมินผล ซึ่งกระบวนการติดตามประเมินผลเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะต้องพิจารณาถึงแนวทาง รูปแบบและขั้นตอนการติดตาม ตัวชี้วัดที่ตอบเป้าหมายระดับโลกและระดับประเทศ วิธีการประเมินผล โครงสร้างเชิงสถาบันหรือกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และการนำผลการประเมินไปถอดบทเรียนความสำเร็จ รวมถึงความต้องการการสนับสนุนจากในประเทศและต่างประเทศ ทั้งด้านการเงิน เทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร และการทบทวนแผนด้านการปรับตัวของประเทศ
สำหรับการดำเนินโครงการจัดทำฐานข้อมูลในการติดตามประเมินผลการปรับตัวฯ รายสาขา ได้มีการรวบรวมข้อมูลการติดตามประเมินผลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีกลุ่มตัวชี้วัด 2 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่มติดตาม” (Monitoring) ที่เป็นข้อมูลจากการประเมินผลการดำเนินงานของโครงการหรือกิจกรรมของหน่วยงานประสานงานกลางรายสาขา และ “กลุ่มประเมินผล” (Evaluation) ที่ใช้ประเมินผลสัมฤทธิ์ที่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านการปรับตัวฯ ระดับชาติ นอกจากนี้ ได้มีการนำตัวชี้วัดไปจัดทำฐานข้อมูลการติดตามประเมินผลด้านการปรับตัวฯ รวมถึงจัดทำคู่มือการติดตามประเมินผลการปรับตัวฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการและใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งการประชุมวันนี้จะมีการระดมความคิดเห็นและรวบรวมข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเติมเต็มข้อมูลที่เป็นช่องว่าง (gap analysis) ของตัวชี้วัดรายสาขาให้สมบูรณ์ โดยกรมฯ จะนำข้อมูลไปจัดทำระบบการติดตามประเมินผล รวมถึงในปี 2569 ได้มีแผนจัดทำ Platform ด้วยการนำแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลมาพัฒนาในส่วนของฐานข้อมูลกลาง และใช้ในการจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี (BTR) รายงานแห่งชาติ (NC) ทุก 4 ปี อีกทั้ง นำผลการประเมินไปใช้ในการทบทวนแผนและยุทธศาสตร์ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ขับเคลื่อนเครือข่ายภาคประชาชน ตั้งรับ ปรับตัว ผสานภูมิปัญญา เฝ้าระวังไฟป่า ลดหมอกควัน ยกระดับสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ

วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายลุ่มน้ำภูมินิเวศดอยอินทนนท์ และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “พิธีสาปแช่ง คนเผาป่า” ผสานความรู้และภูมิปัญญา เฝ้าระวังไฟป่า ลดหมอกควัน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ณ ศูนย์เรียนรู้การจัดการอย่างมีส่วนร่วมอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
โดยมีนายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนางสาวอุมา ศรีสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 150 คน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดจังหวัดเชียงใหม่ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายภูมินิเวศดอยอินทนนท์ เครือข่าย ทสม. เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน เยาวชนและสื่อมวลชน
กิจกรรมสำคัญประกอบไปด้วย
1. กิจกรรมรวมพลังป้องกันไฟป่า ลดหมอกควัน “พิธีสาปแช่ง คนเผาป่า” และการมอบกองทุน อุปกรณ์ดับไฟ และน้ำดื่มสนับสนุนชุมชนเฝ้าระวังไฟป่า ในพื้นที่
2. เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การตั้งรับ ปรับตัวของชุมชน เฝ้าระวังไฟป่า ลดหมอกควันและการยกระดับสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ
โดยมีข้อสรุปความร่วมมือที่สำคัญจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ คือ การยกระดับการทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ โดยจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ พร้อม ยกระดับชุมชน พื้นที่มีความพร้อม พัฒนาให้เป็นต้นแบบและเชื่อมร้อยเป็นเครือข่ายเดียวกัน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”