DCCE ร่วมกับ UNDP จัดประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 และรายงานแห่งชาติฉบับที่ 5 ร่วมกับรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 2 (NC5/BTR2) เสนอต่อ UNFCCC ครั้งที่ 1/2568

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ ร่วมกับ Ms.Niamh Collier-Smith Resident Representative UNDP ประจำประเทศไทย นางสาวกานดา ชูแก้ว รองเลขาธิการ สผ. รองประธานกรรมการ นายศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรรมการและเลขานุการ ผู้แทนกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ และผู้แทนกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ (รางน้ำ) กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จำนวน 30 ท่าน ประกอบด้วย ผู้แทนจาก UNDP หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งการประชุมฯ ในวันนี้ เพื่อพิจารณา (1) แผนงานและงบประมาณการดำเนินงานโครงการจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (BTR1) และรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 5 รวมกับรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 2 (NC5/BTR2) เสนอต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี พ.ศ. 2568 และ (2) การเปลี่ยนหน่วยดำเนินการ (Implementing Partner: IP) ของโครงการฯ
ประชุมฯ มีมติเห็นชอบต่อแผนงานและงบประมาณการดำเนินโครงการฯ ประจำปี พ.ศ. 2568 ที่ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (2) การติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการของ NDC (3) การรวบรวมข้อมูลผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) ข้อมูลด้านการเงิน การถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี การสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถที่จำเป็น (5) ข้อมูลอื่น ๆ (เพศสภาวะ การวิจัย การสร้างเครือข่าย) (6) การจัดประชุมการอบรม และ (7) การติดตามประเมินผล และเห็นชอบให้เปลี่ยนหน่วยดำเนินการของโครงการฯ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่งมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน พัฒนากลไกเครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมพัฒนากลไกเครือข่ายเด็กและเยาวชนในการขับเคลื่อนเครือข่ายเชิงพื้นที่ ในการปรับตัวและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมเจริญธานี ขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานในพิธีปิด พร้อมร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะการสรุปผลแนวทางการดำเนินกิจกรรมเครือข่ายแกนนำเด็กและเยาวชนในการขับเคลื่อนเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้าร่วมจำนวน 104 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน คณะครูจากโรงเรียนเครือข่ายลูกเสืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แกนนำเด็กและเยาวชนจากกลุ่มแกนนำเครือข่ายองค์การด้านสิ่งแวดล้อม ผู้นำชุมชน และเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ การจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขีดเความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และการวางแผนการดำเนินกิจกรรมเชิงประเด็นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มีความสอดคล้องกับแผนและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

 

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะครั้งที่ 1 (สอบข้อเขียน) และกำหนดวัน เวลา สถานที่ ในการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะ เพื่อเป็นพนักงานราชการทั่วไป

Flexitarian-กินมังฯ แบบยืดหยุ่น เทรนด์บริโภคใหม่ช่วยลดโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยที่วงจรชีวิตและห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก การศึกษาจากแคนาดาในปี 2010 เตือนว่า หากการผลิตปศุสัตว์ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2050 คาร์บอนที่ปล่อยจากภาคปศุสัตว์เพียงอย่างเดียวอาจผลักดันให้โลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อนที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยอุณหภูมิโลกอาจสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงของระบบนิเวศในระดับโลก (1)
แม้ปัญหานี้จะดูใหญ่และซับซ้อน แต่จุดเริ่มต้นของการแก้ไขสามารถเริ่มได้จากระดับบุคคล โดยที่การลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เพียง 25% จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั่วโลกได้ถึง 12.5% การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ นี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบจากการผลิตปศุสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลในระดับมหภาคที่ช่วยฟื้นฟูสมดุลของระบบนิเวศและลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในระยะยาวอีกด้วย (1)
ปัจจุบันการบริโภคอาหารแบบที่เรียกว่า Flexitarian (คำผสมระหว่าง Flexible และ Vegetarian) หรือการกินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น กำลังได้รับความสนใจในฐานะทางออกสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “การกิน”แนวทางนี้ไม่ได้หมายถึงการละเว้นเนื้อสัตว์ทั้งหมด แต่เน้นการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ลงและเพิ่มพืชเป็นแหล่งโปรตีนหลัก เพื่อสร้างสมดุลให้กับสุขภาพและธรรมชาติ (3)
การลดปริมาณเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารและเพิ่มพืชเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญไม่เพียงช่วยลดภาวะโลกร้อนเท่านั้น งานวิจัยใน Science Advances ชี้ว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์และเพิ่มพืชสามารถช่วยให้อุณหภูมิโลกคงที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตร เช่น ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ รวมถึงลดผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมถึงความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และคาดว่าจะลดต้นทุนการลดคาร์บอนได้ถึง 43% ภายในปี 2050 (2)
การรับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นสามารถทำได้ง่ายและปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่หลากหลาย การลดปริมาณเนื้อสัตว์ เช่น การงดมื้อเนื้อสัปดาห์ละครั้ง หรือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากพืชแทนเนื้อสัตว์ในบางมื้อ เป็นการเริ่มต้นที่มีประสิทธิภาพ โดยในหลายประเทศ เช่น เบลเยียม บราซิล และเยอรมนี ได้เริ่มโครงการส่งเสริมการลดบริโภคเนื้อสัตว์ในโรงเรียนและสถานที่ทำงานแล้ว ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (1)
ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดอาหารจากพืชกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 7,400 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 ยอดขายโปรตีนและนมจากพืชเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยโปรตีนจากพืชเติบโตถึง 74% ในสามปี ขณะที่นมทางเลือก เช่น ถั่วเหลืองและอัลมอนด์ เติบโต 33% แนวโน้มนี้สะท้อนถึงการที่ผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์และหันมาเลือกอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้น (3)
นอกจากนี้ การสำรวจพบว่า ตลาดเนื้อสัตว์ทางเลือกทั่วโลกจะเติบโตจาก 7,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 สู่ 17,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2026 การลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ยังช่วยลดการใช้พื้นที่เกษตรกรรม โดยปัจจุบันพื้นที่กว่า 80% ใช้เลี้ยงสัตว์หรือปลูกอาหารสัตว์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนมาใช้ปลูกพืชสำหรับคนได้มากขึ้น (3)
ระบบอาหารที่พึ่งพาปศุสัตว์อย่างหนักเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำคัญ โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ปศุสัตว์ในภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำและพื้นที่อย่างมหาศาลถึง 77% ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลกสำหรับปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ขณะที่พื้นที่เพียง 23% ใช้ปลูกพืชอาหารเพื่อมนุษย์โดยตรง หากผู้คนยังคงพึ่งพาปศุสัตว์ในรูปแบบเดิม เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก 7,900 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 10,000 ล้านคนภายในปี 2050 จะต้องใช้พื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นเท่ากับพื้นที่ของประเทศไทยถึง 12 ประเทศ ซึ่งเกินขีดจำกัดของโลกในปัจจุบัน (4)
การบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากเกินไป โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ไม่เพียงแต่ทะลุ “เขตจำกัดของโลก” (Planetary Boundaries) แต่ยังเกิน “เขตสุขภาพ” (Healthy Boundary) ถึง 2 เท่า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคหัวใจและเบาหวาน การเปลี่ยนมาบริโภคอาหารแบบ Flexitarian ที่เน้นโปรตีนจากพืชและลดเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารสามารถช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพได้ นักวิจัยคาดว่า หากปรับพฤติกรรมนี้อย่างกว้างขวางจะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.6 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรักษาสมดุลของโลกอย่างยั่งยืน (4)
การเปลี่ยนพฤติกรรมการกินไม่จำเป็นต้องทำแบบสุดโต่งหรือยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงวันหรือสองวันต่อสัปดาห์ เป็นวิธีที่ง่ายและไม่สร้างความกดดัน นอกจากนี้ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากพืช เช่น อาหารจากพืช ไส้กรอก หรือผลิตภัณฑ์นมทางเลือกอย่างนมอัลมอนด์และโยเกิร์ตมะพร้าว ยังช่วยให้การปรับตัวเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อและสร้างความหลากหลายในมื้ออาหารอีกด้วย (5)
สำหรับผู้ที่เริ่มต้น การลองค้นหาร้านอาหารที่มีเมนูอาหารมังสวิรัติหรือวีแกนในละแวกใกล้บ้าน หรือลองทำอาหารง่าย ๆ ที่ลดเนื้อสัตว์โดยเพิ่มถั่วแทนนับเป็นตัวเลือกที่ดี นอกจากนี้ การวางแผนมื้ออาหารล่วงหน้าจะช่วยให้การเปลี่ยนมาสู่การบริโภคแบบยืดหยุ่นทำได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสสนุกกับการทดลองสูตรอาหารใหม่ ๆ ที่ทั้งอร่อย และดีต่อสุขภาพ (5)
ในอนาคต การกินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น หรือ Flexitarian อาจกลายเป็นแนวทางหลักที่กำหนดทิศทางการบริโภคอาหารทั่วโลก การปรับลดการบริโภคเนื้อสัตว์และเพิ่มอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ การมีส่วนร่วมของทุกคนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค แม้เพียงเล็กน้อย สามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ และยั่งยืนต่ออนาคตของโลกใบนี้ได้

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Flexitarianism : flexible or part-time vegetarianism. Department of Economic and Social Affiars : Sustainable Development. United Nations
(2) Plant-heavy ‘flexitarian’ diets could help limit global heating, study finds. The Guardian.
(3) Vegan, Vegetarian or flexitarian? 3 ways to eat more sustainably. Industries in Depth. WORLD ECONOMIC FORUM.
(4) iGreen. ปลุกกระแส ‘ปฏิรูประบบอาหาร’ ลดก๊าซมีเทนรับมือ Climate Change
(5) Part-time vegan : The case for going flexitariann in 2024. The New Zealand herald.

ประกาศรายชื่อโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาสมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนอีโคสคูล ระดับสูง (Eco-School Advance) รอบการสมัครปี 2567

ประกาศรายชื่อโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาสมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนอีโคสคูล ระดับกลาง (Eco-School Intermediate) รอบการสมัครปี 2567

เปลี่ยนขยะอาหารเป็นปุ๋ยหมัก สร้างสังคมคาร์บอนต่ำสู่ลูกหลาน

ขยะอาหาร (Food Waste) ที่มีปริมาณมากขึ้นและกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการ มาจากหลายปัจจัยทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรเมือง ประเภทอาหารที่หลากหลายและการบริโภคมากขึ้น ฯลฯ แต่อีกสาเหตุและมีส่วนสำคัญก็คือการไม่คัดแยกขยะ ไม่นำเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคไปใช้ประโยชน์ต่อ ทำให้ขยะอาหารกลายเป็นปฏิกูลที่ต้องจัดการด้วยการฝังกลบเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษปี 2566 ประเทศไทยผลิตขยะมูลฝอยรวมกว่า 25.70 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 70,411 ตันต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นขยะอินทรีย์ เช่น ขยะเน่าเสียและย่อยสลายได้เร็วอย่างเศษอาหารมีสัดส่วนสูงถึง 49.03% ในจำนวนนี้มีขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 38% ส่วนที่เหลือถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องหรือปล่อยตกค้าง และก่อให้เกิดมลพิษต่อดิน น้ำ และอากาศ (1)
หากเราไม่มีความเข้าใจมากพอก็อาจทำให้เชื่อไปในทำนองว่า เมื่อขยะเน่าเสียเหล่านี้ถูกขนไปฝังกลบ ปัญหาก็จบลงแค่นั้น หารู้ไม่ว่าการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยวิธีการฝังกลบในหลุมจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ฝังกลบ ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณชุมชนใกล้เคียงไม่ว่าแหล่งน้ำหรือดิน ตลอดจนมีผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้บ่อขยะ โดยข้อมูลของ IPCC ระบุว่า แหล่งฝังกลบขยะเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนจากกิจกรรมมนุษย์ที่สูงเป็นอันดับสามของโลก (1)
คนไทยสร้างขยะอาหารเฉลี่ยปีละ 86 กิโลกรัมต่อคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 79 กิโลกรัมต่อคน โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคเกินความจำเป็น การซื้ออาหารที่มากเกินไป รวมถึงการจัดเก็บอาหารที่ไม่เหมาะสม ซึ่งนั่นเท่ากับการบริโภคอาหารที่มากขึ้นเป็นหนึ่งในสาเหตุการสร้างมลภาวะและสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าอยู่อาศัย (2)
ขยะอาหารที่เกิดขึ้นไม่ได้เพียงส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม ข้อมูลจากรายงาน Food Waste Index 2024 ระบุว่า ขยะอาหารทั่วโลกมีปริมาณมากถึง 1,052 ล้านตัน หรือคิดเป็น 19% ของอาหารทั้งหมดในตลาด แต่ในขณะเดียวกันยังมีประชากรกว่า 783 ล้านคนทั่วโลกที่ยังคงประสบปัญหาความหิวโหย (3)
องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดเป้าหมายให้ทุกประเทศต้องลดปริมาณขยะอาหารให้ได้ 50% ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งภายในปีเดียวกันนี้ไทยเองก็ได้ตั้งเป้าลดขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งด้วย หรือประมาณ 3 ล้านตันต่อปี เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ UN รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (2)
แนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำก็คือ “การหมักเศษอาหาร” หรือการเปลี่ยนขยะอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถนำไปใช้ในภาคเกษตรได้ ซึ่งการใช้ถังหมักเศษอาหารในครัวเรือนช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ถึง 14 เท่า เมื่อเทียบกับการฝังกลบ (4) อีกแนวทางสำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น การซื้ออาหารตามความจำเป็น การจัดเก็บอาหารให้เหมาะสม และการนำอาหารเหลือมาแปรรูปเป็นเมนูใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง (5)
ในระดับชุมชน มีการจัดตั้งโครงการธนาคารอาหาร เช่น โครงการ “ไม่เทรวม” และ “ธนาคารอาหาร” ซึ่งเป็นตัวอย่างของความพยายามในการลดปริมาณขยะ โครงการเหล่านี้เน้นการส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางในสังคม พร้อมทั้งรณรงค์การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมด้วย (5)
ในต่างประเทศอย่างเช่น ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ได้พัฒนามาตรการลดขยะอาหารที่ประสบความสำเร็จ โดยฝรั่งเศสออกกฎหมายบังคับให้ร้านค้าบริจาคอาหารส่วนเกิน ขณะที่ญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีในการติดตามและลดขยะอาหารทำให้สามารถลดขยะได้ถึง 31% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (3) (5)
หากเราไม่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ รู้หรือไม่ว่าอาหารทุกจานที่รับประทานเข้าไปส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยคิดเป็น 8-10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดยการผลิตอาหารเหล่านั้นต้องใช้พื้นที่เกษตรกรรมเกือบ 30% ของโลก ดังนั้นเพื่อช่วยดูแลโลกให้น่าอยู่ การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารจึงเป็นอีกวิธีการที่ไม่ยากและสามารถลดผลกระทบได้ อย่างน้อยที่สุดการหมักขยะอินทรีย์จะช่วยเบี่ยงเบนขยะจากการฝังกลบ ซึ่งเท่ากับช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนและป้องกันมลพิษต่าง ๆ เช่น ไฟไหม้และกลิ่นเหม็นไปในตัว นอกจากนี้ ปุ๋ยหมักยังนำไปปรับปรุงคุณภาพดิน และสามารถทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกด้วย (7) (8)
การทำปุ๋ยหมักสามารถทำได้ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชนที่มีพื้นที่เอื้ออำนวย โดยการใช้ภาชนะ เช่น ถังน้ำ หม้อดินเผา หรือในระดับท้องถิ่นก็สามารถรวมกลุ่มกันทำปุ๋ยหมักในชุมชนได้ ซึ่งการนำขยะอาหารไปทำปุ๋ยหมักนั้นสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2,100 ล้านตัน ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ถือเป็นวิธีการที่ยั่งยืน ลงมือทำได้ไม่ยาก และช่วยสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (7) (8)
การนำเทคโนโลยีมาช่วยก็มีความสะดวกในการลดขยะอาหารได้มาก เช่น ใช้แอปพลิเคชันช่วยเตือนวันหมดอายุอาหาร หรือวางแผนซื้ออาหารอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจซื้ออาหารมีความสอดคล้องกับความต้องการบริโภคที่แท้จริง และจะช่วยลดปริมาณขยะอาหารอย่างเห็นผล (6)
นอกจากนี้ สามารถต่อยอดขยะอาหารเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ด้วย เช่น การแปรรูปขยะอาหารเป็นพลังงานชีวภาพ หรือการสร้างสินค้าใหม่จากวัสดุชีวมวล ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร แต่ยังสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับชุมชนได้ด้วย (2)
อย่างไรก็ตาม การลดขยะอาหารให้ประสบความสำเร็จ และสามารถก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้นอกจากคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนแล้วยังช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อม ๆ กัน
ความตระหนักต่อปัญหาขยะอาหารและการเริ่มต้นลงมือทำไม่มีคำว่าสายเกินไป ทั้งเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและลงมือเปลี่ยนขยะให้เป็นปุ๋ย ผู้ลงมือทำในวันนี้จะเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว นอกจากมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการส่งต่อความยั่งยืนสำหรับอนาคตของลูกหลานรุ่นต่อไปอีกด้วย

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรุงเทพมหานคร, ไม่เทรวม, คู่มือการจัดการขยะอินทรีย์
(2) ธนาคารกสิกรไทย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, คนไทยสร้างขยะอาหาร (Food Waste) เฉลี่ย 86 กิโลกรัม/คน/ปี
(3) Food Waste Index Report 2024, UN : Environment Programme.
(4) กรุงเทพธุรกิจ, จะดีไหมถ้าเรามีถังหมักทำปุ๋ยจากขยะเศษอาหาร ที่ลดโลกร้อนได้
(5) TEI : Thailand Environment Institute, ลดโลกร้อน เริ่มต้นจาก “จานอาหาร” ของเรา
(6) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 10 วิธีลดขยะอาหาร (Food Waste) ลดโลกร้อน
(7) Composting : Solution to Food Loss and Waste., UN : Environment Programme.
(8) United Nations., วันรณรงค์ลดการสูญเสียและขยะอาหารสากล 29 กันยายน

สัญญาณดีสู้โลกร้อน Climate Risk Index 2025 ไทยหลุดอันดับประเทศเสี่ยงสูง จาก 9 ไป 30

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยข้อมูล จากรายงาน Climate Risk Index 2025 โดย Germanwatch จัดอันดับประเทศเสี่ยงสูงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาวในช่วง 30 ปี (1993-2022) โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 ลดลงจากอันดับ 9 เทียบกับ 4 ปีที่แล้ว (ช่วงปี 2000-2019) แต่ยังต้องเตรียมพร้อมตั้งรับและปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนภายใต้ภาวะโลกเดือดอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากรายงาน Climate Risk Index 2025 โดย Germanwatch ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้ระบุว่าในช่วงปี 1993-2022 ภัยพิบัติทางธรรมชาติคร่าชีวิตคนกว่า 765,000 คน และสร้างความเสียหายเกือบ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลโดยตรงจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า 9,400 ครั้ง ซึ่งผลกระทบที่สำคัญที่สุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ได้แก่ พายุ (35%) คลื่นความร้อน (30%) และอุทกภัย (27%) ที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต โดยอุทกภัยส่งผลกระทบต่อประชากรมากที่สุด คิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ขณะที่พายุก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุด คิดเป็น 56% ของมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งหมด หรือประมาณ 2.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ อุทกภัย คิดเป็น 32% หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ จัดทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ฐานข้อมูลเหตุการณ์ภัยพิบัติระดับสากล (EM-DAT) ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบ และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ น้ำท่วม คลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่า วิธีการนี้จะสามารถเปรียบเทียบผลกระทบของภัยพิบัติในประเทศต่าง ๆ และสะท้อนถึงแนวโน้มของความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในแต่ละปี และแนวโน้มระยะยาว 30 ปี
รายงานฉบับนี้ ระบุว่า ในปี 2022 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง 10 อันดับ ได้แก่ ปากีสถาน เบลีซ อิตาลี กรีซ สเปน เปอร์โตริโก สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย โปรตุเกส และบัลแกเรีย ตามลำดับ ซึ่งทุกประเทศล้วนเผชิญกับพายุ น้ำท่วม และคลื่นความร้อนที่รุนแรง ในกรณีของปากีสถานเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ส่วนอิตาลีและกรีซต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก สำหรับดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว (1993-2022) ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติอย่างรุนแรง เช่น โดมินิกา ฮอนดูรัส เมียนมา และวานูอาตู 2) ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งรายงานเตือนว่า แนวโน้มสภาพอากาศสุดขั้วกำลังกลายเป็น “ความปกติใหม่” โดยเหตุการณ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ กำลังกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ ได้ระบุว่า ในปี 2022 ประเทศไทยมีค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Index: CRI) อยู่ในอันดับที่ 72 แสดงถึงผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วของไทยลดลง เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่อยู่ในอันดับ 34 ในขณะที่ค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว ที่ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงระยะเวลา 30 ปี (1993-2022) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 30 แสดงถึงผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วของไทยในระยะยาว ลดลงเมื่อเทียบกับ 4 ปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 9 โดยขณะนั้นเป็นการประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงระยะเวลา 20 ปี (2000-2019) ซึ่งสาเหตุที่อันดับของประเทศไทยลดลงอย่างมาก มาจากหลายปัจจัย เช่น ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศอื่น ๆ เผชิญกับความสูญเสียและความเสียหายจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่รุนแรงกว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยลดลงเนื่องจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงวิธีการประเมินดัชนีความเสี่ยง ซึ่งเพิ่มตัวชี้วัดจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบ และปรับเปลี่ยนช่วงระยะเวลาที่นำมาใช้ในการประเมินดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว จากเดิม 20 ปี เป็น 30 ปี
“ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว แต่ประเทศไทยจะยังคงเผชิญกับผลกระทบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น อุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อน ภัยแล้ง ปริมาณฝนที่ตกหนักผิดปกติ จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมความพร้อมรับมือและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัยล่วงหน้า ให้มีความแม่นยำ การสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนอย่างทันท่วงที การพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดอุณหภูมิโลก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยและคนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ท่ามกลางภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต” ดร.พิรุณ กล่าวทิ้งท้าย

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรม หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 12 (ปธส.12)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการอบรมหลักสูตรดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 12 (ปธส.12) ขอให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการอบรม กรอกรายละเอียดในแบบตอบรับการเข้าร่วม
การอบรมและแบบแสดงความจำนงเข้าร่วมพิธีเปิดและปฐมนิเทศ รายละเอียดตามเอกสารแนบท้ายประกาศ และส่งกลับภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 16.30 น. หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ขอถือว่าท่านสละสิทธิ์เข้ารับการอบรม

กรมลดโลกร้อน ลงพื้นที่ส่งเสริมโรงเรียนต้นแบบการจัดการขยะที่ต้นทาง พร้อมมุ่งสู่โรงเรียนคาร์บอนต่ำ

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นำทีมเจ้าหน้าที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนเทศบาล 2 วัดปราสาททอง เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ของโรงเรียน ให้กำลังใจศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนเทศบาล 2 วัดปราสาททอง พร้อมให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนเทศบาล 2 วัดปราสาททอง ยกระดับเป็นต้นแบบโรงเรียนคาร์บอนต่ำ เป็นโรงเรียนต้นแบบให้แก่โรงเรียนอื่นๆเพื่อเข้ามาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อยกระดับโรงเรียนคาร์บอนต่ำให้คลอบคลุมทุกภูมิภาค ของประเทศไทยพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้า “carbon neutrality” ภายในปี 2050 และ บรรลุเป้า “net zero emissions” ภายในปี 2065 ต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”