DCCE ร่วมงาน TikTok สานต่อความมุ่งมั่นในประเทศไทย

               วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2568) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าร่วมงานแถลงข่าว “TikTok สานต่อความมุ่งมั่นในประเทศไทย ประกาศลงทุน 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
               ในปัจจุบันมีชาวไทยมากกว่า 50 ล้านคนใช้ TikTok เป็นประจำทุกเดือนเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ สร้างและต่อยอดธุรกิจ ตลอดจนสร้างการรับรู้ผ่านคอนเทนต์ที่หลากหลาย ดังนั้น TikTok จึงได้ประกาศการลงทุนล่าสุด 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.05 แสนล้านบาท) สำหรับ Data Center Hosting ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า (เริ่มปี พ.ศ. 2569-2573) การลงทุนนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมศักยภาพของแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการผู้ใช้ในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
               นอกจากนี้ TikTok ได้เผยถึงโครงการด้านการศึกษาที่วางเป้าหมายเสริมทักษะเชิงดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ พร้อมเริ่มดำเนินงานทั่วประเทศ อาทิ
               – โครงการสำหรับเยาวชน TikTok ร่วมมือกับมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School Foundation) และกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดตัวโครงการ BMA Digital Learning Hub ซึ่งเป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านดิจิทัลให้กับนักเรียนในชั้นระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีนี้
               – พัฒนาหลักสูตรพลเมืองดิจิทัลและความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ 6 แห่ง เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้เยาวชนเหล่านี้มีทักษะด้านดิจิทัลที่สำคัญสำหรับความต้องการของตลาดในอนาคต
               ทั้งนี้ TikTok จะดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทยและพันธมิตรทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาเทคโยโลยีและสนับสนุนผู้คน โดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการสร้างการรับรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของกรมฯ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริม เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ พัฒนาศักยภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

สส.จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 นายวัฒน์ ทาบึงกาฬ เลขานุการกรมนำคณะเจ้าหน้าที่ฯ สร้างจิตสำนึกสาธารณะ ร่วมบริจาคโลหิตจำนวน 35 คน และสามารถบริจาคได้ทั้งหมด 20 คน ได้ปริมาณโลหิตรวม 9,000 ซีซี ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ

 

รู้จัก Climate Risk Index ดัชนีชี้วัดประเทศเสี่ยงภาวะโลกร้อน

               ดัชนี CRI เป็นหนึ่งในดัชนีวัดผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศที่มีการดำเนินการยาวนานที่สุด และจัดอันดับประเทศตามผลกระทบทางเศรษฐกิจและมนุษย์ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจะอยู่ในอันดับสูงสุด CRI ใช้วิธีการประเมินผลย้อนหลัง โดยแสดงให้เห็นระดับผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงสองปีก่อนการเผยแพร่ดัชนี และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมารายงานนี้ช่วยกำหนดบริบทของการอภิปรายและกระบวนการกำหนดนโยบายด้านสภาพอากาศในระดับนานาชาติ และสะท้อนให้เห็นว่าประเทศใดกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุด (1)
               Climate Risk Index ไม่ได้เป็นเพียงการจัดอันดับประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดยเฉพาะในเวทีการประชุมโลกร้อน เช่น COP29 ซึ่งล่าสุดที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อลดผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วได้ CRI จึงทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนภัยสำหรับประเทศต่าง ๆ ว่าพวกเขากำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและจำเป็นต้องดำเนินมาตรการป้องกัน รวมถึงปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (1)
               รายงานดัชนีความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศโลกฉบับแรกที่ออกในปี 2006 ระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วน้อยที่สุดได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศอย่างหนัก โดยเฉพาะประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำและรายได้ต่อหัวต่ำ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุและภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลให้ประเทศเหล่านี้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินในอัตราที่สูงมาก การวิเคราะห์พบว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม (4)
               ฟิลิปปินส์ เป็นตัวอย่างของประเทศที่เสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ การวิเคราะห์จากดัชนีความเสี่ยงแสดงให้เห็นว่าความเสียหายจากสภาพอากาศสุดขั้วนั้นมีผลกระทบต่อประเทศเหล่านี้ในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม ทำให้การปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต (4)
               ในช่วงปี 1993-2022 มีการบันทึกเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า 9,400 ครั้ง ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 765,000 ราย และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกว่า 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เหตุการณ์หลักที่สร้างผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ พายุ (35%) คลื่นความร้อน (30%) และอุทกภัย (27%) ซึ่งพายุเป็นสาเหตุที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุด โดยคิดเป็นมูลค่าถึง 2.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 56% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาคืออุทกภัยที่คิดเป็น 1.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 32% ของความเสียหายทั้งหมด (5)
               ในรายงาน Climate Risk Index 2025 ได้เผยรายชื่อ 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงในปี 2022 ได้แก่ ปากีสถาน เบลีซ อิตาลี กรีซ สเปน เปอร์โตริโก สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย โปรตุเกส และบัลแกเรีย ตามลำดับ โดยปากีสถานได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ส่วนอิตาลีและกรีซเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40C และเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ (6)
               หากมองในระยะยาว ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงปี 1993-2022 สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติรุนแรง เช่น โดมินิกา ฮอนดูรัส เมียนมา และวานูอาตู และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งรายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เหตุการณ์สุดขั้วที่เคยเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้นกลายเป็น “ความปกติใหม่” (1)
               ในส่วนของประเทศไทย รายงานฉบับล่าสุดระบุว่า ในปี 2022 ประเทศไทยมีค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ อันดับ 72 ลดลงจาก อันดับ 34 ในปี 2019 และในดัชนีระยะยาว (1993-2022) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 30 ลดลงจากอันดับ 9 ในช่วงปี 2000-2019 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เผชิญความสูญเสียรุนแรงขึ้น (6) (7)
ย้อนกลับไปในอดีต ประเทศไทยเคยติด 10 อันดับแรกของประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในหลายช่วงเวลา เช่น
               – อันดับ 9 ในช่วงปี 1995-2014
               – อันดับ 10 ในช่วงปี 1998-2017
               – อันดับ 8 ในช่วงปี 1999-2018
               – อันดับ 9 ในช่วงปี 2000-2019
               อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีหลัง ๆ อันดับของไทยลดลง เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณค่าดัชนีให้ครอบคลุมช่วงเวลา 30 ปี แทนที่จะเป็น 20 ปีเหมือนเดิม (7)
               แม้ว่าไทยจะไม่ได้ติดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอีกต่อไป แต่ก็ยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น คลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ภัยแล้งที่กระทบต่อการเกษตร น้ำท่วมหนักในบางภูมิภาค และฝนที่ตกหนักผิดปกติ การปรับตัวและเตรียมพร้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การพัฒนาระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดผลกระทบในระยะยาว (5)
               รายงาน Climate Risk Index 2025 ย้ำให้เห็นว่า ไม่มีประเทศใดรอดพ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้แต่ประเทศที่มีรายได้สูงก็ได้รับผลกระทบหนักขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีรายได้น้อยและขาดโครงสร้างพื้นฐานในการรับมือกลับได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด CRI ยังชี้ให้เห็นว่าการดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มเงินทุนสนับสนุนให้กับประเทศกำลังพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศ (1)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) Clilmate Risk Index 2025, GERMANWATCH.
(2) Christoph Bals, Tagesspiegel Background
(3) About GermanWatch, GERMANWATCH.
(4) Global Climate Risk Index 2006 : Weather-Related Loss Events and Their Impacts on Countries in 2004 and in a Long-Term Comparison., Briefing Paper, GermanWatch.
(5) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, “กรมลดโลกร้อน เผยการจัดอันดับ Climate Risk Index 2025 ไทยหลุดอันดับประเทศเสี่ยงสูงจาก 9 ไปอันดับ 30”
(6) Climate Risk Index 2025 : Who suffers most from extreme weather events?, Climate Risk Index, GermanWatch.
(7) Global Climate Risk Index 2021 : Who suffer Most Extreme Weather Events? Weather-related Loss Events in 2019 and 2000 to 2019., GermanWatch.

ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างซ่อมแซมครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ทส. จัดพิธีเปิดการอบรม “ปธส.” รุ่น 12 สร้างเครือข่ายผู้นำ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ

               วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 12 (ปธส.12) สร้างเครือข่ายความร่วมมือ เสริมศักยภาพผู้นำ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาศและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงฯ และผู้เข้าฝึกอบรมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม กว่า 90 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ
               ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน (Public-Private-People Partnership) หรือ PPPP เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ความเท่าเทียมกันทางสังคม และการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับทุกภาคส่วนในการเตรียมพร้อมตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคภาวะโลกเดือด ซึ่งการเสริมสร้างขีดความสามารถไม่เพียงแต่การพัฒนาทักษะ ประสบการณ์และความรู้ในระดับบุคคลเท่านั้น ยังครอบคลุมถึงการกำหนดโครงสร้างภายใน ตลอดจนนโยบาย ขั้นตอนการดำเนินงานในระดับองค์กร และการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อระบบทางสังคม ผ่านกฎหมาย นโยบาย การใช้อำนาจและบรรทัดฐานทางสังคม รวมถึงการนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาและการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
               ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยครอบคลุมการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน: การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นทางเลือกที่สำคัญในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ช่วยลดแรงกดดันทางภาษีจากต่างประเทศ สำหรับสินค้าที่ก่อให้เกิดคาร์บอนสูง 2) การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่ห่วงโซ่สีเขียว: การสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงองค์ความรู้และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรผลิตภัณฑ์ เป็นทางออกสำคัญไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ 3) การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย: ผ่านกลไก กระบวนการ และองค์ประกอบในการดำเนินงานด้านสาธารณภัย เช่น การป้องกัน การลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อม การเผชิญเหตุ การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ตลอดจนการบูรณะซ่อมแซมและพัฒนา และการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย เพื่อให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีองค์ความรู้และทักษะในการรับมือกับภัยต่างๆได้
               “หลักสูตร ปธส. รุ่นที่ 12 เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสำหรับผู้บริหารให้ทันกับกระแสโลกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อยกระดับประเทศไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป”
ดร.เฉลิมชัย กล่าวทิ้งท้าย

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน เปิดเวทีปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2 ยกระดับการรับมือวิกฤตโลกเดือด ด้วยกลไกทางการเงิน

               วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท แอดเวนเทจ คอนซัลติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ครั้งที่ 2: การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกระดับการรับมือให้สอดคล้องกับสถานการณ์และทิศทางระดับโลก โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมเพชรบุรี โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ
               ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำถึง ความสำคัญของแผนแม่บทรับรองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานระยะยาวในการรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งยกระดับการดำเนินงานทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการดำเนินงานในทุกภาคส่วน ให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางระดับโลก ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมได้นั้นต้องอาศัยกลไกทางการเงิน ประกอบกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ณ สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ โดยให้ประเทศพัฒนาแล้วมีพันธกรณีในการระดมทุนไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2035 เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก และช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว โดยขับเคลื่อนผ่านกองทุนต่างๆ จึงทำให้การเข้าถึงเงินทุนเป็นประเด็นสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกประเทศ
               การปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้ จึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนระหว่างประเทศและการออกแบบมาตรการสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้แผนแม่บทฯ ฉบับปรับปรุงนี้ สามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน
               ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทฯ มีกำหนดจัดขึ้นจำนวน 4 ครั้ง เพื่อหารือและรับฟังมุมมองเชิงลึกในแต่ละสาขาเฉพาะด้าน ได้แก่ ครั้งที่ 1 ด้านการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีส่วนร่วม จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2568 สำหรับวันนี้เป็นครั้งที่ 2 ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการนำเสนอข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมประชุม เกี่ยวกับสถานการณ์ ข้อริเริ่มการเงิน การวิเคราะห์ช่องว่างและความต้องการสำหรับมาตรการการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การนำเสนอเป้าหมายและข้อจำกัดด้านการเงินในการดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างมิติทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมิติการมีส่วนร่วมทางสังคม และในช่วงเดือนมีนาคม 2568 จะมีการประชุมครั้งที่ 3 ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และครั้งที่ 4 การลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหลังจากนี้จะมีการสรุปการจัดทำแผนแม่บทฯ ในภาพรวมพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

เริ่มต้นปรับพฤติกรรมที่ตัวเราเอง ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้

               เมื่อพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะออกจากมือไปแล้วมักจะกลายเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่มันสร้างผลกระทบต่อโลกอย่างใหญ่หลวง ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยว่า ปัจจุบันมีขยะพลาสติกสะสมอยู่ในมหาสมุทรมากกว่า 75-199 ล้านตัน ในปี 2559 มีขยะพลาสติกประมาณ 9-14 ล้านตันไหลลงสู่ระบบนิเวศทางน้ำ และคาดว่าภายในปี 2583 ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเป็น 23-37 ล้านตันต่อปี ซึ่งพลาสติกถือเป็นขยะในทะเลที่มากที่สุด เป็นอันตรายที่สุด และคงอยู่ยาวนานที่สุด โดยคิดเป็น 85% ของขยะทะเลทั้งหมด (1)
               ขยะพลาสติกไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย ไมโครพลาสติกที่เกิดจากการย่อยสลายของพลาสติกสามารถปนเปื้อนในอาหารทะเลและแหล่งน้ำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงเมื่อบริโภคเข้าไป (1)
               ด้วยเหตุนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastics หรือ SUPPs) จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นปริมาณขยะก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2566 สถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทยมีมากถึง 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตันต่อวัน เฉลี่ยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในจำนวนนี้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 9.31 ล้านตัน ขยะที่ถูกกำจัดถูกต้อง ร้อยละ 10.17 ล้านตัน และถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 7.47 ล้านตัน และเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าขยะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ที่มีปริมาณขยะมูลฝอย 25.70 ล้านตัน โดยกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะมากสุดถึง 12,748 ล้านตันต่อวัน (2)
               อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหานี้ เพราะภาครัฐได้ร่วมมือกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศกว่า 90 บริษัท ร่วมงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว “Everyday Say No To Plastic Bags” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – ธันวาคม 2565 ซึ่งโครงการนี้สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวได้ทั้งสิ้น 14,349.6 ล้านใบ หรือ 81,531 ตัน (3)
               นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังดำเนินกิจกรรมรณรงค์การลด และเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำตลาดสดต้นแบบ มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) ทำให้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกในภาพรวมลดลง 43% หรือ 148,699 ตัน (3)
               ทว่าในภาพรวมเรายังรับทราบข้อมูลมลพิษจากพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เนือง ๆ ตั้งแต่ชายหาดไปจนถึงเขตอาร์กติกอันไกลโพ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อมหาสมุทร ทำลายระบบนิเวศและชีวิตสัตว์ป่า สถิติชี้ว่า เต่าทะเลหนึ่งในสองตัวกินพลาสติกเข้าไป นกทะเลถึง 90% มีพลาสติกอยู่ในกระเพาะอาหาร และยังทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล (7) อีกทั้งพลาสติกและโฟมที่ย่อยสลายยากเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของสารปรุงแต่งหรือสารประกอบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งอาจเป็นพิษและก่อผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว (5)
               เมื่ออันตรายของมันเป็นที่ประจักษ์ เราทุกคนจึงต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพราะจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ อย่างแนวคิด “Zero Waste” หรือการลดขยะให้เหลือศูนย์เป็นแนวทางหนึ่งที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยมุ่งลดขยะตั้งแต่ต้นทาง หลักการสำคัญของ Zero Waste ได้แก่ 1A3R คือ หลีกเลี่ยง (Avoid) การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle) ซึ่งทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย เช่น การพกถุงผ้า กระบอกน้ำส่วนตัว และปฏิเสธการใช้หลอดพลาสติก (6)
               ขณะที่ระดับนโยบายในต่างประเทศอย่างไอร์แลนด์เป็นตัวอย่างผู้นำการจัดการขยะพลาสติกด้วยการจัดเก็บภาษีถุงพลาสติก ซึ่งช่วยลดการใช้ลงกว่า 90% ส่วนในประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และกัมพูชา ได้ริเริ่มพื้นที่ปลอดพลาสติกและเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้พลาสติกเพื่อส่งเสริมการลดขยะในระดับชุมชน (6)
               สำหรับชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การพกขวดน้ำส่วนตัวหรือช้อนส้อมแบบพกพาก็สามารถสร้างความแตกต่างได้ ในอังกฤษมีการรณรงค์ให้ลดการใช้ช้อนส้อมและจานพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และแนะนำให้ประชาชนหันมาใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น ซิลิโคนหรือไม้ไผ่ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (7)
               การลดพลาสติกยังสามารถทำได้ผ่านการเปลี่ยนวัสดุทางเลือก อย่างเช่น การใช้ Beeswax Wraps หรือไขผึ้งห่ออาหารแทนฟิล์มห่ออาหารพลาสติก หรือการเปลี่ยนจากถุงชาที่มีส่วนผสมของพลาสติกไปเป็นใบชาหรือถุงชาที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดขยะ แต่ยังช่วยลดปริมาณไมโครพลาสติกที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม (7)
               อีกหนึ่งแนวทางสำคัญคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมอาหาร โดยคำนึงถึง “วงจรชีวิต” ตั้งแต่การผลิตจนถึงการกำจัด โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาดและวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ง่าย นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเบา ทนทาน และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้จะช่วยลดปริมาณขยะในระยะยาว (1)
               อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาขยะพลาสติกให้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐอย่างเช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ส่งเสริมโครงการรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และสนับสนุนให้มีโครงการต้นแบบในชุมชน (5)
               ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน เช่น การสนับสนุนให้ลูกค้าพกภาชนะส่วนตัวเพื่อลดขยะพลาสติก หรือการออกส่วนลดสำหรับผู้ที่ใช้แก้วน้ำของตนเอง วิธีการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดขยะ แต่ยังสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการขยะอย่างยั่งยืนอีกด้วย (5)
               เมื่อมองในภาพใหญ่ของขนาดปัญหาขยะพลาสติก อาจทำให้เราคิดว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ คงไม่สามารถช่วยแก้ไขอะไรได้มาก แต่ในความเล็กน้อยที่ร่วมกันคนละไม้คนละมืออย่างจริงจัง และต่อเนื่องก็สามารถสร้างพลังของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ อย่างเช่น การปฏิเสธถุงพลาสติก (พกพากล่องสำหรับการบรรจุอาหารสดหรือถุงผ้า) หรือการมีขวดน้ำติดส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ดีและเอื้อต่อการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การหักล้างข้อมูลคาดการณ์ปัญหานี้จึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือภารกิจร่วมกันของพวกเราทุกคน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) How to reduce the impacts of single-use plastic products, UN : Environment Programme.
(2) Thap PBS, “ขยะล้นเมือง” คนไทยสร้างขยะเฉลี่ย 7.3 หมื่นตัน/วัน
(3) ไทยรัฐออนไลน์, Future Perfect, ดราม่าถุงพลาสติก สู่ปัญหา ขยะไมโครพลาสติก ไทยติดอันดับโลก!
(4) Plastic pollution, IUCN : International Union for Conservation of Nature.
(5) ประชาชาติธุรกิจ, การจัดการขยะมูลฝอย วาระแห่งชาติ… เริ่มต้นได้ที่ตัวเรา
(6) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, รู้จัก Zero Waste สร้างชีวิตยุคใหม่ ให้ขยะเป็นศูนย์
(7) Tips to reduce your plastic waste, WWF.

ทส. ผนึกกำลัง 7 กระทรวง เพิ่มขีดความสามารถประเทศไทย รับมือวิกฤตโลกเดือด เชื่อมโยงเป้าหมายการปรับตัวระดับโลก สู่ระดับประเทศ

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ผนึกกำลัง 7 กระทรวงลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ “การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” เพิ่มขีดความสามารถประเทศไทยในการรับมือและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อมโยงเป้าหมายการปรับตัวระดับโลก ระดับประเทศ สู่การปฏิบัติระดับท้องถิ่น โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธีพร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้ง ได้รับเกียรติจาก นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมพิธี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันรูปแบบของภูมิอากาศทั่วโลกในบางพื้นที่เริ่มเปลี่ยนแปลงและเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับอดีตก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยจะเผชิญความเสี่ยงที่รุนแรงและยากต่อการคาดการณ์มากขึ้น โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) ที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลก ที่ให้ความสำคัญกับ 6 สาขาที่มีความเสี่ยง ได้แก่ การจัดการทรัพยากรน้ำ เกษตรและความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข การท่องเที่ยว การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้น การดำเนินงานระหว่างสาขา จะต้องสอดคล้องและบูรณาการ โดยเฉพาะข้อมูลความเสี่ยงภัย การคาดการณ์ผลกระทบและความรุนแรง การเตือนภัยล่วงหน้า รวมถึงการอพยพและฟื้นฟูสถานการณ์ ซึ่งความร่วมมือระหว่าง 7 กระทรวง จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 หรือ COP29 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณากรอบในการจัดทำตัวชี้วัดเป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลก เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ล่าสุดประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับประเทศเสี่ยงสูงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาวในช่วง 30 ปี (ปี ค.ศ. 1993-2022) อยู่ในอันดับที่ 30 ซึ่งลดลงจากอันดับ 9 เทียบกับ 4 ปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในอันดับต้นแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงเป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลกและระดับประเทศสู่ระดับจังหวัดและท้องถิ่นอย่างบูรณาการและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 6 สาขา ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สำหรับในวันนี้นับว่าเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างกระทรวง ครบทั้ง 6 สาขา ซึ่งแต่ละสาขามีเป้าหมาย ดังนี้
1) การจัดการทรัพยากรน้ำ : เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ ลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ
2) เกษตรและความมั่นคงทางอาหาร : รักษาผลิตภาพการผลิตและความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3) การท่องเที่ยว : เพิ่มขีดความสามารถของภาคการท่องเที่ยวให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนและรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4) สาธารณสุข : มีระบบสาธารณสุขที่สามารถจัดการความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ : บริหารจัดการทรัพยากรธรรมขาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
6) การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ : ประชาชน ชุมชน และเมืองมีความพร้อมและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
ทั้งนี้ หลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือฯ แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยประสานงานกลางรายสาขาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานร่วมกัน และเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายสาขา ซึ่งจะเป็นกรอบการดำเนินงานหลักที่ถ่ายทอดสู่การปฏิบัติทั้งในระดับหน่วยงานและระดับพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดงานวิจัย นวัตกรรม ข้อมูลสารสนเทศและองค์ความรู้เรื่องความเสี่ยงและการปรับตัว สนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างความตระหนักรู้ให้กับกลุ่มเปราะบาง เสริมสมรรถนะในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติจากธรรมชาติในทุกรูปแบบ ให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

24 กุมภาพันธ์ วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า

ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ที่พบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและมีค่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยส่วนหนึ่งมีแหล่งกำเนิดหลักจากไฟป่า และการเผาในพื้นที่เกษตร เป็นต้น ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาในช่วงต้นปีที่มีความกดอากาศสูง แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศปิด ลมสงบ ฝุ่นละอองไม่ฟุ้งกระจายและสะสมในพื้นที่จนเกินมาตรฐาน
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมลดโลกร้อนจึงขอร่วมรณรงค์ให้ประชาชนงดจุดไฟเผาป่า หยุดเผา เพื่อปกป้องผืนป่าไทยและป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– กรมควบคุมมลพิษ, 2568

กรมลดโลกร้อน ร่วมลงนาม Phuket Sandbox ปักหมุด Green Destination ภูมิภาคอาเซียน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน “Andaman Sustainable Tourism Forum 2025” และพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ Green Hotel Plus Phuket Sandbox โดยมี นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนลงนามในบันทึกความร่วมมือ Green Hotel Plus Phuket Sandbox ร่วมกับ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการยกระดับธุรกิจท่องเที่ยวและปักหมุดการเป็น Green Destination ในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่พักในจังหวัดภูเก็ต. มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน. จึงมีแนวทางความร่วมมือกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม…เพื่อส่งเสริมให้โรงแรมที่พักในจังหวัดภูเก็ตให้ได้รับการรับรอง Green Hotel Plus จากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จำนวนไม่น้อยกว่า 600 แห่ง ภายในปี 2569 และขอเสนอโครงการ Phuket Green Hotel Plus sandbox ในการเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อเป็นพื้นที่นำร่องของการเข้ารับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”