นี่แหละวิกฤตโลกร้อนของจริง ไทยหนาวสะท้านยาวนานที่สุด หิมะถล่มญี่ปุ่น ไฟป่าโหมแคลิฟอร์เนีย

ช่วงสัปดาห์นี้สภาพอากาศโลกแปรปรวนหนักมาก ในประเทศไทยเผชิญอากาศหนาวเย็นลงนานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 16-18 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นผลมาจากมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ สภาพอากาศนี้ส่งผลให้ประชาชนต้องเผชิญกับหมอกบางในตอนเช้าและความเสี่ยงจากอากาศแห้งที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยในหลายพื้นที่ (1)
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศประจำวันที่ 13 มกราคม 2568 พบว่าเช้าวันนี้เป็นวันที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบปีนี้และหลายปีที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 6.6 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดสกลนคร ส่วนประเทศไทยตอนบนยังมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่ กทม.อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 14.8 องศาเซลเซียส และฤดูหนาวจะลากยาวไปจนถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 (2)
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ มวลอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้อุณหภูมิในบริเวณเหล่านี้ลดลง พร้อมกับมีลมแรงเกิดขึ้น (1)
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า ในปี 2567 ประเทศจีนประสบกับอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี โดยอุณหภูมิที่เมืองโม่เหอในมณฑลต้าซิงอันหลิงลดลงถึง -53 องศาเซลเซียส พร้อมกับหิมะตกหนักเกือบทั่วประเทศ ปรากฏการณ์อากาศหนาวสุดขั้วนี้เกิดจาก “Polar Vortex” หรือกระแสลมกรดพัดล้อมรอบบริเวณที่มีอากาศเย็นจัด ซึ่งเป็นการแผ่ขยายของมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือสู่ประเทศจีน โดยมีสาเหตุมาจากการที่โลกร้อนขึ้น ทำให้กระแสลม Polar Jet Stream เบี่ยงทิศทาง และทำให้กระแสลมกรดนี้ขยายลงมายังพื้นที่ทางใต้ (3)
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากการหมุนของลมขั้วโลกที่พัดจากทิศตะวันตกไปตะวันออก ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้มวลอากาศเย็นจากขั้วโลกแผ่ขยายลงมาทางใต้ แต่ด้วยการที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้กระแสลมกรดดังกล่าวอ่อนกำลังลงและขยายไปยังประเทศจีนและภูมิภาคอื่น ๆ ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นจัดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การที่มวลอากาศเย็นแผ่ขยายลงมาทางใต้ยังส่งผลให้เกิดความกดอากาศสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดอากาศหนาวเย็นผิดปกติ และยาวนานกว่าปีก่อน ๆ (3)
สภาพอากาศที่หนาวเย็นในไทยยังส่งผลให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นทำให้อากาศปิด การสะสมของฝุ่นละอองในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ (3)
อีกฟากหนึ่งของโลก เกิดไฟป่าโหมไหม้บ้านเรือนประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของลอสแอนเจลิส และได้คร่าชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 10 ราย เจ้าหน้าที่ต้องสั่งอพยพประชาชนเกือบ 180,000 คน และเผาผลาญพื้นที่ไปหลายแสนไร่ (5) (6)
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ไฟป่าเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงกว่าในอดีต ความร้อนและความแห้งแล้งในปีที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งให้เกิดสถานการณ์ไฟป่าในปัจจุบัน แม้ว่าปริมาณฝนที่ตกมากในช่วงสองปีที่ผ่านมาในแคลิฟอร์เนียจะช่วยให้พืชพรรณเติบโต แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนและฤดูหนาวที่แห้งแล้ง พืชเหล่านี้กลับกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ไฟลุกลามได้ง่ายขึ้น (6)
ลมซานตาอานาที่พัดแรงถึง 129 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียลุกลามอย่างรวดเร็ว ลมเหล่านี้นอกจากจะพัดเปลวไฟให้แพร่กระจายไปในวงกว้าง ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่ต้องควบคุมไฟป่าในพื้นที่ลาดชัน (4)
ผลกระทบจากไฟป่าครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ว่าสูงถึง 1.97 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ควันไฟที่ลอยฟุ้งไปไกลยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศในพื้นที่ใกล้เคียง และสุขภาพของประชาชนในระยะยาว (5)
ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับหิมะตกหนักที่สุดในรอบปีที่โทไคและโฮคุริกุในภูมิภาคทางตอนเหนือและตะวันตกโดยบางพื้นที่หิมะสะสมสูงถึง 70 เซนติเมตร สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเดินทาง รถไฟชินคันเซ็นในภูมิภาคโฮคุริกุต้องลดความเร็วลงหรือหยุดให้บริการชั่วคราวในบางสาย และทางด่วนบางส่วนต้องปิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การเตรียมพร้อมรับมือของญี่ปุ่นแม้จะมีประสิทธิภาพ แต่ภัยพิบัติเช่นนี้ได้สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม (7) (8)
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า สภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้คือผลพวงของภาวะโลกร้อนที่เร่งให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิอากาศโลก และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน เช่น ฤดูหนาวที่หนาวจัดหรือฤดูร้อนที่ร้อนจัด ไม่เพียงกระทบต่อมนุษย์แต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศอย่างรุนแรง (9)
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กำลังเตือนเราว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์เป็นทางรอดและจำเป็น การใช้พลังงานทดแทนและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแนวทางที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตนี้ได้ แต่หากยังไม่ลงมือทำ อนาคตของโลกอาจเต็มไปด้วยสภาพอากาศสุดขั้วที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อีกต่อไป (10)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรมอุตุนิยมวิทยา
(2) ฐานเศรษฐกิจ, กรมอุตุนิยมวิทยา เผยสภาพอากาศวันนี้ ไทยหนาวเย็นที่สุดในรอบปี
(3) ไทยโพสต์ : อิสรภาพแห่งความคิด, นักวิชาการ มีคำอธิบาย ‘ทำไม? ประเทศไทยปีนี้จึงหนาวเย็นมากกว่าปกติ’
(4) Why wildfires are becoming faster and more furious, BBC News.
(5) BBC News ไทย, ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย : สถานการณ์ยังน่ากังวล เปิดสาเหตุไฟโหมรุนแรงหนัก, ไฟป่าแคลิฟอร์เนียโหมรุนแรง สาเหตุมาจากอะไร เรารู้อะไรแล้วบ้าง?
(6) BBC News ไทย, ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่าในแอลเอ, ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่ารุนแรงในแคลิฟอร์เนียอย่างไร?
(7) Sea of Japan coast braces for heavy snow, possible traffic disruption, JapanToday.
(8) Heavy snow hits north, west Japan, 100 vehicles temporarily stranded., Kyodo News+
(9) Climate Change Indicators : Weather and Climate, EPA : United States Environmental Protection Agency.
(10) Greenhouse gases emissions and global climate change : Examining the influence of CO2, CH4, and N2O., ScienceDirect.

กรมลดโลกร้อน จัดงาน Youth After COP29 Event เพื่อพัฒนางาน Climate Action ของเยาวชนในประเทศไทย

วันที่ 15 มกราคม 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดงานสรุปผลการดำเนินงานของผู้แทนเยาวชนไทยในการเข้าร่วมงาน COP29 (Youth After COP29 Event) ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเกียรติจาก นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบนโยบาย พร้อมด้วย Ms.Niamh Collier – Smithผู้บริหารจาก UNDP Thailand และ Ms. IIaria Favero ผู้บริหารจาก UNICEF Thailand ที่ได้มากล่าวถึงแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานของผู้แทนเยาวชนไทยจากการเข้าร่วมกิจกรรม ในงานประชุม COP29 ณ เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนอื่นๆ เพื่อนำไปพัฒนาขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลการดำเนินงานต่างๆ สำหรับงานประชุม COP30 ณ ประเทศบราซิล ต่อไป โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมงาน COP29 เครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (CCE Children&Youth) คณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนยูนิเซฟ เครือข่ายเยาวชนที่ดำเนินโครงการ Local Conference of Youth (LCOY) ผู้แทนจากหน่วยงานภาคีความร่วมมือต่างๆ ได้แก่ Unicef Thailand , UNDP Thailand โครงการ SPAR6C และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จำนวนรวม 100 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

สส. เข้าร่วมรับเสด็จ รับพระราชทานโล่และฉายพระฉายาลักษณ์ร่วม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันนี้ (14 ม.ค. 2568) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเป็นประธานการประชุมมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ อาคารมูลนิธิขาเทียมฯ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมพระราชทานโล่ให้กับหน่วยงาน โดยมีนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นผู้แทนเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จฯ รับโล่พระราชทาน และฉายพระฉายาลักษณ์ร่วม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

14 มกราคม วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 14 มกราคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ “ป่าไม้” ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ เนื่องจากเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (carbon sinks) ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลก
ดังนั้น การตัดไม้ทำลายป่าสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เราทุกคนสามารถช่วยกันลดโลกร้อนได้ง่ายๆ โดยการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และลด ละ เลิก การบุกรุกแผ้วถางป่าและตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งร่วมกันปลูกต้นไม้ขึ้นมาทดแทนที่ถูกตัดทำลายไปให้มากที่สุด

แหล่งที่มา :
– กรมป่าไม้
– กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
– BBC

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

“ลุงต่อ” พาน้องหมูเด้ง สร้างสีสันในงานวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 เสริมสร้างการเรียนรู้ ร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย

​วันนี้ (11 มกราคม 2568) ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดงานวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังเด็กไทย Kids เปลี่ยนโลก” พาน้องหมูเด้ง ร่วมสร้างสีสัน ส่งเสริมการเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของเด็กและเยาวชน พร้อมให้คำมั่นจะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศส่งต่อให้ลูกหลานไทย ณ บริเวณโซนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำเนียบรัฐบาล
ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เห็นถึงความสำคัญของเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติที่สำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศและช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ทส. ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่องทุกปี และปี 2568 จัดกิจกรรม ภายใต้แนวคิด “รวมพลังเด็กไทย Kids เปลี่ยนโลก” ณ บริเวณโซนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของเด็กและเยาวชน มีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เกิดความยั่งยืน พร้อมตั้งรับ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกเดือด โดยในปีนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง”
สำหรับวันนี้ พี่ๆ จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดกิจกรรมที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานพร้อมสาระความรู้มากมาย ประกอบด้วย 3 โซน ได้แก่ 1) “โซนการเรียนรู้ด้านทรัพยากรน้ำในแผ่นดิน” เรียนรู้คุณค่าของน้ำ รวมถึงเครื่องเตือนภัย Early Warning 2) “โซนการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม” เรียนรู้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน การลดขยะอาหาร ลดโลกเดือด ความหลากหลายชีวภาพของไทย และ 3) “โซนการเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติ” เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ป่าไม้ช่วยลดโลกเดือด ทะเลสวยด้วยมือเรา การขุดซากดึกดำบรรพ์ นอกจากนี้มีกิจกรรมบนเวทีกลาง ตอบคำถามชิงรางวัล รวมถึงกิจกรรมไฮไลท์ให้เด็ก ๆ ได้ถ่ายภาพกับโมเดล “น้องหมูเด้ง” อีกทั้ง ชมขบวนพาเหรดมาสคอตสัตว์โลกน่ารัก พร้อมด้วยเจ้าหญิง เจ้าชาย และผองเพื่อน ที่มาร่วมสร้างสีสันกว่า 30 ตัว อาทิ น้องหยดน้ำ น้องโลมา น้องเต่า น้องวาฬ น้องพะยูน เป็นต้น และยังมีวงโยธวาทิต เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนานกับกิจกรรมไปพร้อมกับการสอดแทรกสาระความรู้และสุขใจไปกับของรางวัลที่ทุกหน่วยงานได้จัดเตรียมไว้ และที่สำคัญการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมแบบ Net Zero Event มีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยเลือกชดเชยจากโครงการที่มีการดูดกลับคาร์บอนหรือ โครงการที่มีเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน เพื่อมาชดเชยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์
“สุดท้าย ขอให้เด็กๆ ทุกคนมีความสุขและสนุกในการเรียนรู้ มีอนาคตที่สดใส ร่วมกันเป็นพลังสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เช่น ประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงาน ลดและแยกขยะให้ถูกประเภท ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน เท่านี้เด็กๆ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับโลกของเราได้” ดร. เฉลิมชัย กล่าว

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

“กรมลดโลกร้อน” เสริมองค์ความรู้ เครือข่าย ทสม. 20 พื้นที่ 4 ภูมิภาค พัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเปิดตัวโครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำด้านการจัดการขยะชุมชนและการเกษตร เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ เป็นวันที่ 2 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างความเข้าใจถึงกลไกที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการสู่ความยั่งยืน โดยมีวิทยากร จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ในโอกาสนี้ นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติกล่าวปิดการประชุมฯ และให้กำลังใจแก่เครือข่าย ทสม. ทั้ง 20 พื้นที่ ในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการดังกล่าว ให้บรรลุเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด และสามารถดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามแผนงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ทส. เปิดตัวโครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน 17.8 ล้านบาท เสริมพลังเครือข่าย ทสม. 20 พื้นที่ 4 ภูมิภาค ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ

วันที่ 8 มกราคม 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดตัว “โครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำด้านการจัดการขยะชุมชนและการเกษตร เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่” เสริมพลังเครือข่าย ทสม. 20 พื้นที่ต้นแบบ 4 ภูมิภาค ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการ พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงฯ ร่วมเป็นเกียรติ และดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน โดยมีเครือข่าย ทสม. 19 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ ทสจ. 19 จังหวัด เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือและพัฒนาเครือข่าย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งสถานการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วม และพายุที่รุนแรงในหลายภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลกระทบในทุกมิติ จึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบ โดยในการประชุม COP29 ที่ผ่านมา ได้มีข้อตัดสินใจสำคัญ คือ 1) การจัดทำเป้าหมายทางการเงินครั้งใหม่ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วจะต้องสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาอย่างน้อย 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2035 2) การจัดทำเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ในปี ค.ศ. 2035 หรือ NDC 3.0 ต้องสอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ของความตกลงปารีส 3) การเริ่มดำเนินการของกองทุนการสูญเสียและความเสียหายภายในปี ค.ศ. 2025 เพื่อช่วยประเทศที่เปราะบางรวมถึงประเทศไทย สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 4) ความชัดเจนของตัวชี้วัดด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกที่เชื่อมโยงในระดับประเทศ
ดร.เฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลได้ผลักดันกฎหมาย นโยบาย และมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งการจัดทำร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสู่การบรรลุเป้าหมายประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนภาคประชาชน เป็นภาคส่วนสำคัญให้มีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเปิดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทุกภาคส่วน ซึ่งเครือข่าย ทสม. เป็นเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่ 290,000 คน ทั่วประเทศ และเป็นต้นแบบเครือข่ายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่ ดังนั้น การได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมจำนวน 17.8 ล้านบาท ในโครงการนี้ จะเป็นส่วนเสริมพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในพื้นที่ต้นแบบ 20 พื้นที่ 4 ภูมิภาค เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ และพร้อมยกระดับการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศ มุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
“หลังจากสิ้นสุดโครงการนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำโดยเครือข่าย ทสม. 20 พื้นที่ จะเป็นผู้สื่อสารและส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกของชุมชนและประชาชน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษในพื้นที่อย่างใกล้ชิด นำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยได้” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของโครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำด้านการจัดการขยะชุมชนและการเกษตร เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ เป็นพื้นที่ เครือข่าย ทสม. ระดับตำบล ที่มีศักยภาพและมีการดำเนินกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้านการจัดการขยะชุมชน 16 พื้นที่ และด้านการเกษตร 4 พื้นที่ รวม 20 พื้นที่ ใน 19 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ครอบคลุม 4 ภูมิภาค

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน นับถอยหลังเตรียมความพร้อมจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ทำเนียบรัฐบาล : รวมพลังเด็กไทย Kids เปลี่ยนโลก

วันนี้ (7 มกราคม 2568) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมเตรียมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 พร้อมด้วยนายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเตรียมงานของหน่วยงานภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
งานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ปีนี้ ทส. จัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “รวมพลังเด็กไทย Kids เปลี่ยนโลก” ในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 ณ บริเวณโซนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการแบ่งโซนกิจกรรมการเรียนรู้ออกเป็น 3 โซน ได้แก่ 1) โซนการเรียนรู้ด้านทรัพยากรน้ำในแผ่นดิน 2) โซนการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และ 3) โซนการเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมด้วยกิจกรรมไฮไลท์ อาทิ การถ่ายภาพกับโมเดล “น้องหมูเด้ง” ขบวนพาเหรดมาสคอต การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องลดขยะอาหาร ลดโลกเดือด และกิจกรรมร่วมสนุกบนเวทีกลางเพื่อรับของรางวัลมากมาย รวมทั้งยังได้จัดเตรียมอาหาร ขนมและเครื่องดื่มไว้สำหรับเด็กทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเด็ก ๆ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่เวลา 8.00 – 15.00 น. ณ บริเวณโซนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำเนียบรัฐบาล

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

สส.จัดพิธีสักการะบูชาพระพุทธรูปและศาลพระภูมิ ประจำกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2568 ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิชอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมนำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่กรมฯ ร่วมพิธีสักการะบูชาพระพุทธรูปและศาลพระภูมิ ประจำกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เนื่องใน วันปีใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2568

ทส. ประชุมเตรียมจัดงาน “วันเด็ก 2568” ทำเนียบรัฐบาล : รวมพลังเด็กไทย Kids เปลี่ยนโลก

วันนี้ (2 มกราคม 2568) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เป็นประธานการประชุมเตรียมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และนายปวิช เกศววงศ์รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นำเสนอแนวคิดและภาพรวมของการจัดงานในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม ชั้น 17 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงฯ ร่วมกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เกิดความยั่งยืน โดยในปีนี้ นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ได้มอบคำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2568 ว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง”
โดยกระทรวงฯ ได้เตรียมการจัดกิจกรรมเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้แนวคิด “รวมพลังเด็กไทย Kids เปลี่ยนโลก” ซึ่งจะมีการแบ่งโซนกิจกรรมการเรียนรู้ออกเป็น 3 โซน ได้แก่ 1) โซนการเรียนรู้ลดโลกเดือดด้านทรัพยากรน้ำในแผ่นดิน 2) โซนการเรียนรู้ลดโลกเดือดด้านสิ่งแวดล้อม และ 3) โซนการเรียนรู้ลดโลกเดือดด้านทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมด้วยกิจกรรมไฮไลท์ บูธถ่ายภาพกับโมเดล “น้องหมูเด้ง” ขบวนพาเหรดมาสคอต รณรงค์ลดขยะอาหาร และกิจกรรมร่วมสนุกบนเวทีกลางรับของรางวัลมากมาย

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”