หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปธส.)


ประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทั้งการแพร่กระจายของมลพิษจากภาคการผลิต มลพิษในเขตเมืองและชุมชน การลักลอบทิ้งสารเคมีและของเสียจากอุตสาหกรรม ดินโคลนถล่ม ชายฝั่งถูกกัดเซาะพังทลายการบุกรุกและการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดูแลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การกำหนดเครื่องมือและกลไกการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นองค์รวม เกิดการบูรณาการแนวคิดระหว่างการอนุรักษ์ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคีร่วมพัฒนา การเชื่อมโยงข้อมูลข้อสนเทศด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จากกระแสพลวัตรดังกล่าว ได้นำมาเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาศักยภาพนักบริหารระดับสูงด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีปรัชญาพื้นฐานว่า

– ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมจะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและบูรณาการตามหลักธรรมาภิบาล

– สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของจริยธรรมสิ่งแวดล้อม

หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้บริหารให้เป็นผู้บริหารยุคใหม่หัวใจสีเขียว เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นต้นแบบในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม มีการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบนหลักเหตุและผล โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ รวมทั้งสามารถสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กรมลดโลกร้อน ร่วมกับ TU-RAC จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อห่วงโซ่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) โดยกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อห่วงโซ่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ และคู่มือการจัดทำห่วงโซ่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting) โดยได้รับเกียรติจาก นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเข้าประชุมในรูปแบบออนไลน์ จำนวน 175 คน ทั้งนี้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงข้อมูลห่วงโซ่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคู่มือฯ ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ก่อนนำไปเผยแพร่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ดร.เฉลิมชัย เปิดงานวันสิ่งแวดล้อมไทย และวัน ทสม. แห่งชาติ ปี 2567 นำเสนอผลการประชุม COP29 มุ่งยกระดับความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม แก้ไขปัญหาโลกเดือด สู่เป้าหมายระดับโลก

วันที่ 4 ธันวาคม 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “Impact – Driven Policy: Empowering Action for Change รวมพลังลดโลกเดือด: เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” พร้อมเปิดเวทีนำเสนอผลการประชุม COP29 มุ่งยกระดับความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยสู่เป้าหมายระดับโลก โดยได้รับเกียรติจาก ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และกล่าวรายงานโดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะกรุงเทพมหานคร
ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สืบเนื่องจากจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยและโลกที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น และให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และนับเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้น้อมนำพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยมุ่งเน้นให้เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่าย ทสม. เป็นฟันเฟืองสำคัญในการส่งเสริมการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ส่งผลต่อเนื่องไปสู่การดำเนินงานร่วมกับประชาคมโลก และในโอกาสนี้ อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบในขณะนี้ และจะต่อเนื่องไปอีกในระยะยาว ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับการดำเนินงาน ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส โดยเร่งสร้างความพร้อมของการดำเนินงานในมิติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ทุกภาคส่วน
ดร. เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า จากการประชุม COP29 ณ ประเทศอาเซอร์ไบจาน ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการยกระดับการดำเนินงานทั้งการปฏิบัติตามเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงบูรณาการแผนการปรับตัวระดับชาติให้เชื่อมโยงกับระดับท้องถิ่น พร้อมกับการเร่งพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่ประชาชนระดับพื้นที่ โดยเน้นย้ำว่าการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามกรอบอนุสัญญาฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งแนวทางดำเนินงานของประเทศไทย มีความมุ่งมั่นให้ภาครัฐเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีภาคเอกชน และภาคประชาชน เครือข่าย ทสม. เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับพื้นที่ และมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งและชัดเจน ให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างได้อย่างเป็นรูปธรรม
​“สุดท้ายนี้ ขอเน้นย้ำว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการจัดการปัญหาร่วมกัน จึงขอให้ใช้โอกาสนี้ สื่อสารสาระสำคัญจากผลการประชุม COP29 ในมุมมอง “จากโลกสู่เรา เพื่อเปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” และมุ่งหวังให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้รับรู้และร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายของประเทศอย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม เพื่อส่งต่อโลกใบนี้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไปได้อย่างยั่งยืน”
​สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย และวัน ทสม. แห่งชาติ ปี 2567 ครั้งนี้ ได้มีการเปิดเวทีนำเสนอสรุปผลการประชุม COP29 โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสวนาในหัวข้อ “Impact – Driven Policy : Empowering Action for Change รวมพลังลดโลกเดือด: เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” และ “สาระสำคัญจาก COP29 สู่การดำเนินงานของประเทศไทย” ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ กรอบความโปร่งใสภายใต้ความตกลงปารีส (Transparency Framework) การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) และเป้าหมายการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมพลังการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment) และการเสริมศักยภาพ (Capacity Building) รวมถึง ความร่วมมือภายใต้กลไกข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Article6) อีกทั้งการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้สาระสำคัญจาก COP29 และผลการดำเนินงานของ เครือข่าย ทสม. โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชนและเครือข่ายสถานศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และ เครือข่าย ทสม. รวมกว่า 800 คน ทั้งนี้ การจัดงานครั้งนี้ เป็นการจัดงานแบบคาร์บอนนิวทรัลอีเว้นท์ ได้มีการนำคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER มาชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

 

“กรมลดโลกร้อน” เปิดเวทีนำเสนอผลงานเครือข่าย ทสม. ปี 2567 มุ่งสร้างความเข้มแข็ง บูรณาการเครือข่าย แก้ไขปัญหาโลกเดือด

วันที่ 3 ธันวาคม 2567 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดการประชุมเครือข่าย ทสม. ประจำปี และกิจกรรมวัน ทสม. แห่งชาติ” ภายใต้แนวคิด “IMPACT – DRIVEN POLICY: รวมพลัง ทสม. ลดโลกเดือด: เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” พร้อมเปิดเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานเครือข่าย ทสม. ปี 2567 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม พร้อมการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด และมีผู้แทนเครือข่าย ทสม. และผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทั่วประเทศ กว่า 400 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ทสม.” เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ตลอดจนเป็นผู้ประสานงานในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐ และองค์กรท้องถิ่น ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด จนเกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งปัจจุบัน มีสมาชิก ทสม. จำนวน 290,976 คน ครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมฯ ได้สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเครือข่าย ทสม. เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการส่งเสริมบทบาทให้เครือข่าย ทสม. เป็น “โซ่ข้อกลาง” เชื่อมประสานการทำงานระหว่างภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความตระหนักต่อคุณค่า ความสำคัญของฐานทรัพยากรต่าง ๆ ในชุมชน จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดำเนินการ ตามหลัก 4 ป. ได้แก่ ประสาน ประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติ และประเมินผล พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องตามบริบทของพื้นที่ตนเอง
การดำเนินงานในปี 2567 กรมฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม. โดย (1) ปรับปรุงระเบียบ หลักเกณฑ์ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างและภารกิจ ของกรมฯ ภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (2) ปรับปรุงฐานข้อมูล ทสม. ให้เป็นภาพรวมของกรมฯ (3) การโอนเงินสนับสนุน การพัฒนาเครือข่าย ทสม. 76 จังหวัด (4) ถอดบทเรียนเสริมองค์ความรู้ สู่ผลสำเร็จของ ทสม. และเครือข่าย ทสม. ดีเด่น (6) การอบรม/ประชุม เชิงปฏิบัติการ สร้างการเรียนรู้ การขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขยายองค์ความรู้ทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ ในมิติด้านการปรับตัวและการลดก๊าซเรือนกระจก (7) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย ทสม. ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ( 8 ) การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง ไฟป่า ลดหมอกควัน (9) การส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย ทสม. โดย “ส่งเสริมเครือข่าย ทสม. สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” (10) การส่งเสริมให้เครือข่าย ทสม. เข้าถึงแหล่งทุนด้านสิ่งแวดล้อม (กองทุนสิ่งแวดล้อม) (11) การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ/พื้นที่ขยายผล เพื่อขอรับใบรับรอง LESS
สำหรับในปี 2568 กรมฯ จะยังคงมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและบูรณาการความร่วมมือของเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยมี 5 เป้าหมาย ได้แก่ (1) เครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วนสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่อง (2) มีพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง (3) มีเครือข่ายในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (4) ประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ (5) ประชาชน ชุมชน มีพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินโครงการในปี 2568 นี้ จะต้องตอบโจทย์สถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องเวทีโลก COP 29 อีกทั้งจำเป็นต้องทำงานในเชิงรุกเพื่อแสดงพลังร่วมมือ พร้อมกำหนดแนวทางร่วมกัน ทั้งประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบูรณาการการดำเนินงานในระดับพื้นที่ กลไกทางการเงิน รวมถึงการสื่อสารกับภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นและสร้างกระแสให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”