กรมลดโลกร้อน จัดส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (Thailand First Biennial Transparency Report : BTR1) ทันตามกำหนดภายในปี ค.ศ. 2024

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) ได้จัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (Thailand’s First Biennial Transparency Report : BTR1) ตามที่ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งต้องจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี ทุก ๆ 2 ปี เพื่อสื่อสารสิ่งที่ประเทศไทยได้ดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชาคมโลก และเป็นเครื่องมือในการขอรับการสนับสนุน เทคโนโลยี องค์ความรู้ การเสริมสร้างศักยภาพแหล่งเงินทุนต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยประเทศไทยได้จัดส่งรายงาน BTR1 ไปยัง UNFCCC เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2024
รายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 มีเนื้อหาหลักดังนี้ 1) สภาวการณ์ของประเทศ 2) บัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ นำเสนอปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000-2022 โดยในปี ค.ศ. 2022 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 278,039.73 ktCO2eq (รวมภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน) และมีปริมาณการล่อยก๊าซเรือนกระจก 385,941.14 ktCO2eq (ไม่รวมภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน) 3) ความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย NDC ในปี ค.ศ. 2021 – 2022 ประไทยมีปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 60.33 MtCO2eq และ 65.23 MtCO2eq ตามลำดับ สำหรับความก้าวหน้าในการดำเนินงานตาม NDC ภายใต้มาตรา 4 ของความตกลงปารีส ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่ร้อยละ 30.46 เมื่อเทียบกับ BAU และการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศทั้งสิ้น 1,916 tCO2eq ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ 4) ผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำร่องด้านการปรับตัว 6 สาขา จำนวน 6 จังหวัด และ 5) การเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และข้อจำกัด ช่องว่าง ความต้องการและการสนับสนุนที่ได้รับ วงเงินประมาณ 38,668.47 ล้านบาท หรือ 1,102.92 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จัดอบรมต่อต้านการทุจริต พร้อมมอบนโยบาย No Gift Policy

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2567 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดโครงการอบรมต่อต้านการทุจริต และผลประโยชน์ทับซ้อน พร้อมมอบนโยบายการไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิด จากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ต่อคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกคนเพื่อให้รับทราบและถือปฏิบัติ โดยมี นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีฯ นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดี์ เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกันนี้ กลุ่มงานจริยธรรม ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “มุมมองและการสร้างค่านิยมในการพัฒนาระบบราชการไทย ให้โปร่งใสไร้ประโยชน์ทับซ้อน” ประกอบกับการบรรยายในหัวข้อ “กฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย No Gift Policy” โดยได้รับเกียรติจากชมรม STRONG NT บริษัท โทรคมนาคม แห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และสำนักงาน ป.ป.ท. เป็นวิทยากรเสวนาและบรรยายให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีจิตสำนึกในการปฏิเสธการรับของขวัญ และของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ สร้างค่านิยม ปรับเปลี่ยนทัศนคติ นำไปสู่พฤติกรรมที่ตระหนักรู้เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต การป้องกันการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

DCCE ส่งมอบถังเติมบุญให้กับ ช่อง 7HD ขยายจุด Drop Point รับคืนวัสดุใช้แล้วเข้าสู่ระบบรีไซเคิล

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2567 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นำคณะผู้บริหารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมส่งมอบ “ถังเติมบุญ” ให้กับช่อง 7HD โดยโครงการ 7 สี ปันรักให้โลก โดยมีคุณบี กมลาส์น เอียดศรีชาย และคุณบอย ธนพัต กิตติบดีสกุล ผู้ประกาศข่าว เป็นผู้แทนรับมอบ เพื่อร่วมกันดำเนินงานขยายจุด Drop Point รับคืนกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้ว ในโครงการ Recycle for Life เพื่อมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ส่งเสริมการนำบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือทำประโยชน์ใหม่ และเพื่อให้เกิดกระแสสังคมให้ทุกคนหันมาร่วมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการรีไซเคิล
ทั้งนี้ ในปี 2568 มีเป้าหมายสนับสนุนการผลิตขาเทียม จำนวน 100 ขา ร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้พิการที่มีความยากไร้ พร้อมตั้งเป้ารวบรวมบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 5 ล้านใบ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 570 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า บรรลุตามเป้าหมายแผนปฏิบัติการ (Action plan) ส่งเสริมการจัดการระบบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแบบครบวงจรในประเทศไทย (พ.ศ. 2564 – 2568) โดยประชาชนที่สนใจ สามารถร่วมบริจาคกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วผ่านจุดรับคืน (Drop Point) ในห้างสรรพสินค้า Big C ใกล้บ้าน จำนวน 192 สาขาทั่วประเทศ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จัดกิจกรรมเสริมสร้างความร่วมมือเครือข่ายสื่อมวลชน “DCCE Partners : Together to Net Zero”

วันที่ 26 ธันวาคม 2567 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ กรมลดโลกร้อน จัดกิจกรรมเสริมสร้างความร่วมเครือข่ายสื่อมวลชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม “DCCE partners : Together to Net Zero” โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีฯ นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีฯ ผู้บริหารกรมฯ และสื่อมวลชนกว่า 35 คน ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล และ ข้อคิดเห็นในการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ดร.พิรุณ ได้กล่าวถึงแผนและทิศทางการดำเนินงานของกรมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในปีหน้า รวมถึงความสำคัญของเครือข่ายสื่อมวลชนที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารไปสู่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดการรับรู้ เสริมสร้างความสามารถในการปรับตัว และเกิดพลังความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

สส.จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และบำเพ็ญสาธารณกุศล

วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2567 นายวัฒน์ ทาบึงกาฬ เลขานุการกรม นำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขานุการกรม และหน่วยสนับสนุน ส่งมอบกระป๋อง/ฝากระป๋องอะลูมิเนียม ให้กับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อส่งมอบให้มูลนิธิขาเทียมในการช่วยเหลือ ผู้พิการขาเที่ยมต่อไป ภายใต้กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และบำเพ็ญสาธารณกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนการิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยรับบริจาคทั้งจากหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก รวมทั้งหมดจำนวน 21 กิโลกรัม

 

กรมลดโลกร้อน สร้างความร่วมมือ ทสจ. ขับเคลื่อนเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันนี้ (7 มกราคม 2568) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมเตรียมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 พร้อมด้วยนายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเตรียมงานของหน่วยงานภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
งานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ปีนี้ ทส. จัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “รวมพลังเด็กไทย Kids เปลี่ยนโลก” ในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 ณ บริเวณโซนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการแบ่งโซนกิจกรรมการเรียนรู้ออกเป็น 3 โซน ได้แก่ 1) โซนการเรียนรู้ด้านทรัพยากรน้ำในแผ่นดิน 2) โซนการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และ 3) โซนการเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมด้วยกิจกรรมไฮไลท์ อาทิ การถ่ายภาพกับโมเดล “น้องหมูเด้ง” ขบวนพาเหรดมาสคอต การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องลดขยะอาหาร ลดโลกเดือด และกิจกรรมร่วมสนุกบนเวทีกลางเพื่อรับของรางวัลมากมาย รวมทั้งยังได้จัดเตรียมอาหาร ขนมและเครื่องดื่มไว้สำหรับเด็กทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเด็ก ๆ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่เวลา 8.00 – 15.00 น. ณ บริเวณโซนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำเนียบรัฐบาล

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จับมือภาคีเครือข่าย เชิญชวนนักวิ่งสายบุญ ร่วมกิจกรรม “We can run : Fund for legs” ปีที่ 2

วันที่ 18 ธันวาคม 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย แถลงข่าว เชิญชวนนักวิ่งและผู้ที่สนใจ ร่วมกิจกรรม เดิน-วิ่ง มินิมาราธอนการกุศล Recycle for Life “We can run: Fund for legs” ปีที่ 2 เพื่อสนับสนุนการผลิตขาเทียม ส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้พิการมีความยากไร้ พร้อมสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดการแถลงข่าว พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต เลขาธิการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คุณกิติยา แสนทวีสุข กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) ผู้บริหารภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ร่วมแถลงข่าว และมีการเปิดมุมมองการสร้างแรงบันดาลใจ โดยคุณเบเบ้ ธันย์ชนก ฤทธินาคา Influencer ดารานักแสดง คุณหลุยส์ เฮด ดารา นักแสดง จาก 7 สี ปันรักให้โลก ผู้ได้รับขาเทียมจากมูลนิธิขาเทียมฯ และนักวิ่งผู้เป็นแรงบันดาลใจ ร่วมเปิดมุมมอง ณ ชั้น 3 อาคารไทยเบฟควอเตอร์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สืบเนื่องจากปี 2566 ที่ผ่านมา กรมลดโลกร้อน ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน “We can run: Fund for legs” ภายใต้โครงการ Recycle for Life เพื่อมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ บริเวณลานกลางท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายสนับสนุนการผลิตขาเทียม มอบแด่ผู้พิการที่มีความยากไร้ ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชนเป็นอย่างดี และได้มีการส่งมอบขาเทียมให้กับมูลนิธิขาเทียมฯ 85 ขา เป็นมูลค่ากว่า 2,125,000 บาท อีกทั้งสามารถรวบรวมกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 4,080,000 ใบ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 484.5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยการรีไซเคิลกระป๋องเทียบกับการขุดแร่ใหม่
ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดกิจกรรม เดิน-วิ่ง มินิมาราธอนการกุศล Recycle for Life “We can run: Fund for legs” ปีที่ 2 ในครั้งนี้ ยังคงเป็นการจัดงานแบบปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event) ซึ่งเกิดขึ้นจากการผนึกกำลังของภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจ TCP บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด ช่อง 7HD โครงการ 7 สี ปันรักษ์ให้โลก โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2568 ณ บริเวณลานกลางท้องสนามหลวง แบ่งเป็น 2 ระยะทาง ได้แก่ ระยะ Mini Marathon 10 กิโลเมตร และระยะ Micro Marathon 5 กิโลเมตร อีกทั้ง ในครั้งนี้มีเป้าหมายที่เข้มข้นมากขึ้น ด้วยการตั้งเป้าสนับสนุนการผลิตขาเทียม 100 ขา คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,500,000 บาท รวบรวมกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 4,800,000 ใบ โดยนักวิ่งนำ “กระป๋องอลูมิเนียมเปล่า จำนวน 5 กระป๋อง” มาแลกรับเสื้อและบิบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 570 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทำให้กิจกรรมดี ๆ ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ทุกคนหันมาสนใจการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองแล้ว ยังสามารถช่วยให้คนอื่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย จึงขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนผู้ที่รักการวิ่งและผู้ที่สนใจ สมัครเข้าร่วม กิจกรรมเดิน-วิ่ง มินิมาราธอนการกุศล Recycle for Life “We can run: Fund for legs” ปีที่ 2 โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook page กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้พิการที่มีความยากไร้ พร้อมสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปด้วยกัน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน เปิดเวทีกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ 6 สาขาความเสี่ยง เร่งขยายผลสู่ระดับพื้นที่

วันที่ 17 ธันวาคม 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เปิดงานทิศทางประเทศไทยกับภารกิจด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานใน 6 สาขาความเสี่ยง เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนจากส่วนกลางไปสู่ระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร
​นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากข้อมูล IPCC ระบุว่า ที่ผ่านมาอุณภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว 1.3 องศาเซลเซียส และในอีก 5 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่จะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งผลกระทบที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ปะการังเสี่ยงอยู่ในภาวะฟอกขาว เกิดภัยแล้งรุนแรงในบางภูมิภาคของโลก ผลผลิตทางการเกษตรลดลง อีกทั้งรูปแบบของภูมิอากาศทั่วโลกในบางพื้นที่ เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้วเมื่อเทียบกับอดีต สำหรับประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงที่รุนแรงและยากต่อการคาดการณ์มากขึ้น เช่น ภาคใต้เกิดฝนตกหนักแบบกระจุกตัว (Rainbomb) เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 7 แสนครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 35 ราย มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 5 พัน – 1 หมื่นล้านบาท และจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาตัวชี้วัดเป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลก (Global Goal on Adaptation : GGA) โดยจะสรุปผลการจัดทำตัวชี้วัดดังกล่าวในการประชุมที่บอนน์ ประเทศเยอรมนี ในช่วงกลางปีหน้า ขณะที่เป้าหมายการสนับสนุนทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (BAKU Finance Goal) มีมติเห็นชอบการระดมเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2578 ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จึงเสนอวงเงินที่ต้องการอย่างน้อย 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับประเทศไทย ได้ถูกจัดอันดับประเทศที่ได้รับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้ว เป็นอันดับ 9 ของโลก จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเรื่องการปรับตัว ซึ่งที่ผ่านมา ทส. โดยกรมลดโลกร้อน ได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) ที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลก และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2568 จะจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายสาขา (Thailand’s Action Plan on Adaptation) เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการปรับตัวสู่ระดับพื้นที่ โดยจะมีโครงการสำคัญ (Flagship Project) ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาข้อมูลการคาดการณ์ภูมิอากาศในระยะยาวจากแบบจำลองภูมิอากาศ และการปรับปรุงแผนที่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบาย อีกทั้ง ทส. ได้ลงนาม MOU ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ สาขาสาธารณสุขภายใต้แผน NAP เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจะมีแผนจะลงนาม MOU ให้ครบ 5 สาขา ประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลกและระดับประเทศ สู่ระดับจังหวัดและท้องถิ่น โดยจะเชื่อมโยงกับการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่ รับผิดชอบโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด
สำหรับงานในวันนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จัดประชุมคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านกฎหมาย ครั้งที่ 15/2567

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดการประชุมคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านกฎหมาย ครั้งที่ 15/2567 โดยมี นายชัชชม อรรฆภิญญ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายในคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เป็นประธาน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธาน นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และนายกิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำหน้าที่อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยคณะอนุกรรมการฯ รับทราบความก้าวหน้าร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. และร่วมกันพิจารณาร่างแนวทางปฏิบัติสำหรับการใช้คาร์บอนเครติดเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ
มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการต่อร่างแนวทางปฏิบัติสำหรับการใช้คาร์บอนเครติดเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ และมอบหมายให้ สส. เสนอคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ดร.เฉลิมชัย นำขบวนรณรงค์ เที่ยวงานกาชาดแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดใช้ Single-use plastic ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันที่ 16 ธันวาคม 2567 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.พิรุณ สัยยสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหาร ทส. ร่วมขบวนเดินรณรงค์ เที่ยวงานกาชาดแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดใช้ Single-use plastic คัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร
งานกาชาดประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 22 ธันวาคม 2567 ภายใต้แนวคิด“ทศมราชา 72 พรรษาถวายพระพร” โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ร่วมออกร้านกาชาด ภายใต้แนวคิด “ทศมราชา นทีชีวา ประชาร่มเย็น” อีกทั้งมีกิจกรรมภายในร้านกาชาด ทส. ที่น่าสนใจหลายกิจกรรม ทั้งการแสดงนิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รวม 21 โครงการ กิจกรรมให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีกิจกรรม“เกมบิงโกลดโลกเดือด” และ“เกมมองอนาคตลดโลกเดือด” เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ กิจกรรมร่วมถ่ายภาพกับโมเดลน้องหมูเด้ง การแสดงจาก 20 มาสคอตของหน่วยงานในสังกัด ทส. การแสดงดนตรี ตลอดจนร่วมลุ้นรางวัลกับกิจกรรมสอยดาว รวมทั้งการแจกกล้าไม้และน้ำดื่ม “ฟรี” ตลอด 12 วัน 12 คืน
นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์เชิญชวนประชาชนที่มาเที่ยวงานร่วมกันงดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) จำนวน 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว (ถุงก๊อบแก๊บ) แก้วพลาสติกและหลอดพลาสติก และโฟมบรรจุอาหาร อีกทั้งเชิญชวนให้พกถุงผ้า กระบอกน้ำส่วนตัว และเดินทางมาเที่ยวงานโดยรถสาธารณะ เพื่อร่วมกันลดการสร้างขยะใหม่อันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขอความร่วมมือจากหน่วยงาน ร้านค้า ต่างๆ และผู้มาเที่ยวงานร่วมกันคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งภายในงานจะมีเจ้าหน้าที่ และจิตอาสา จากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ให้คำแนะนำการคัดแยกขยะตามจุดต่างๆ โดยขยะที่มีการคัดแยกประเภทเรียบร้อยแล้วจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งการจัดการขยะในงานกาชาดจะสามารถนำไปเป็นโมเดลต้นแบบของงานมหกรรมรื่นเริงการกุศลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Fair) ให้กับงานอื่น ๆ ต่อไปด้วย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”