ทส. รับมอบอุปกรณ์สนับสนุนแผนปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า จาก ปตท.สผ. พร้อมเร่งแจกจ่ายเจ้าหน้าที่รับมือไฟป่า

               วันที่ 10 เมษายน 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานสักขีพยานในพิธีรับมอบอุปกรณ์สนับสนุนแผนปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า พ.ศ.2568 ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ นายชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการผลิตในประเทศ ปตท.สผ. โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ พร้อมด้วยนายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหาร ปตท.สผ. รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
               สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าครั้งนี้ ทส. ได้รับการสนับสนุนจาก ปตท.สผ. ด้วยงบประมาณรวม 15 ล้านบาท เพื่อการจัดหาชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า อุปกรณ์ดับไฟป่าพร้อมยุทโธปกรณ์ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) พร้อมกล้องตรวจจับความร้อนสำหรับการบินสำรวจ เครื่องหาพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียมแบบพกพา เครื่องรับ-ส่งวิทยุ เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน ตามแผนปฏิบัติงานป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า ปี พ.ศ. 2568 ของกระทรวงฯ
               โอกาสนี้ ดร.เฉลิมชัย รมว.ทส. กล่าวขอบคุณ ปตท.สผ. ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่อง พร้อมยืนยันว่ากระทรวง ฯ จะเดินหน้าบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเข้มข้น และจะเร่งนำอุปกรณ์ที่ได้รับไปแจกจ่ายให้แก่หน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ที่กำลังเกิดเหตุไฟป่า รวมถึงจัดส่งให้พื้นที่เสี่ยงเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ไฟป่าโดยเฉพาะในช่วง 60 วันของฤดูแล้งก่อนเข้าสู่ฤดูฝน อีกทั้งจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนำกฎหมายที่มีอยู่มาบงคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันในประเทศอย่างต่อเนื่อง
               การสนับสนุนครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ระหว่าง กระทรวงฯ และ ปตท.สผ. ซึ่งได้ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงาน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีความสมดุลและยั่งยืน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

“กรมลดโลกร้อน” เปิดศูนย์การเรียนรู้พื้นที่สีเขียวป่านิเวศ วัดเขาแก้ว จังหวัดจันทบุรี เปิดพื้นที่การเรียนรู้ เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอน ลดปัญหาโลกเดือด

               เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลปะตง และวัดเขาแก้ว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เปิดตัว “ศูนย์การเรียนรู้ พื้นที่สีเขียวป่านิเวศ (Eco Forest) และอนุรักษ์พันธุกรรมพืช วัดเขาแก้ว” เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
               โดยได้รับเกียรติจากนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีรองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธี พร้อมด้วย นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ผู้บริหารจังหวัดจันทบุรี
ผู้บริหารอำเภอสอยดาว เจ้าอาวาสวัดบ้านตาเรือง เจ้าคณะตำบลปะตง เขต 2 เจ้าอาวาสวัดวัดเขาแก้ว เครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ณ วัดเขาแก้ว อำเภอสอยดาว จังหวัดราชบุรี
               นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมการดำเนินงานขับเคลื่อน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ.สธ. ซึ่งการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานของโครงการ อพ.สธ. ได้แก่ การเรียนรู้ทรัพยากร การใช้ประโยชน์ทรัพยากร และการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยวัดเขาแก้ว จะเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่มีพื้นที่สีเขียว มีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นถิ่นของตำบลปะตง ซึ่งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นศักยภาพของวัดเขาแก้ว จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ วัดเขาแก้ว ตำบลปะตง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เป็นศูนย์การเรียนรู้พื้นที่สีเขียวป่านิเวศ (Eco Forest) และอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ ศึกษาพันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากวัดเขาแก้ว เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชนบ้านเขาแก้ว หมู่ที่ 6 องค์การบริหารส่วนตำบลปะตง ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคาร์บอนต่ำ และหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมมือกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดูแลต้นไม้อย่างต่อเนื่อง และเก็บข้อมูลต้นไม้ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้บนพื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา (7,376 ตรม.) สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ 379.25 (tCO2e) เหมาะสมในการเป็นพื้นที่ต้นแบบการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ปลูกฝังให้เยาวชนและประชาชนตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพยากร เกิดความรักและหวงแหน จนนำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันดูแลรักษาพื้นที่สีเขียว เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอน ช่วยลดมลพิษและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ ตลอดจนเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่พื้นที่อื่น ๆ นำไปขยายผลเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของตนเองต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานคนที่ 1 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ ได้มอบหมาย นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่แทน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
               ประธานกรรมการได้มอบนโยบายการดำเนินงานของคณะกรรมการ โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ที่ประเทศจะได้รับในภาพรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และเสริมศักยภาพการปรับตัวของทุกภาคส่วนในการจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้คณะกรรมการได้รับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและพิจารณาเห็นชอบเรื่องที่สำคัญ ดังนี้
               1. เห็นชอบร่างแนวทางปฏิบัติสำหรับการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ และให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน
               2. เห็นชอบต่อ (ร่าง) ข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีสระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย (Implementation Agreement Pursuant to Article 6 of the Paris Agreement between the Government) และให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน
               3. เห็นชอบโครงการเมืองคาร์บอนต่ำและการพัฒนาตลาดคาร์บอนของประเทศไทย (Low Carbon Cities & Carbon Market Development) และมอบให้ กรมลดโลกร้อน จัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกระทรวงการคลัง พิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติหลักการโครงการตามขั้นตอน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ทส. รวมพลังผู้ประกอบการ “อาหารต้องไม่เป็นของเสีย”

               วันที่ 9 เมษายน 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานงานสัมมนา “From Food Waste to Well being รวมพลังผู้ประกอบการ…จัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี” โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานและมอบนโยบายการจัดการขยะอาหารและน้ำเสีย และมีนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม. ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการขยะอาหารและน้ำเสีย และมีผู้แทนสถานประกอบการ เข้าร่วมงานกว่า 450 คน
               ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวว่า ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับสภาวะโลกเดือดที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อาหารที่กลายมาเป็นของเสีย หรือที่เรียกว่า ขยะอาหาร เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในบรรยากาศ ซึ่งทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นหรือโลกร้อนขึ้น และยังเป็นเรื่องของทรัพยากรที่สูญเปล่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงอยากเชิญชวนทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนแนวคิดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “อาหารต้องไม่เป็นของเสีย” อาหารที่พวกเรารับประทาน ต้องใช้ทรัพยากรในการผลิต ทั้งทรัพยากรน้ำ พลังงาน และความอุดมสมบูรณ์ของดิน แรงงาน เงิน บางพื้นที่ถ้าทำการเกษตรแบบบุกรุกป่าก็สูญเสียทรัพยากรป่าไม้ไปด้วย เมื่อเราทิ้งเป็นขยะก็กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องจัดการที่ต้องเสียงบประมาณไปกำจัด ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งปี 27 ล้านตัน เป็นขยะอาหารมากกว่า 10 ล้านตัน หรือ 37% และในทุกวันประเทศไทยมีน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากชุมชน 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 43% ของน้ำเสียทั้งหมด ซึ่งขยะอาหารและน้ำเสียก็จะมาจากบ้านเรือน จากผู้บริโภค จากธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชน จึงเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการให้ถูกต้องและดีขึ้น
               นโยบายในการจัดการขยะอาหารและน้ำเสียของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและน้ำเสียเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงเป็นการส่งเสริมให้มีการนำขยะอาหาร รวมถึงน้ำเสียไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยและน้ำเสียที่จะต้องนำไปกำจัดหรือบำบัด มุ่งเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น การสร้างให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ อาทิ การวางแผนบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ การบริจาคอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้ให้แก่ผู้ยากไร้หรือกลุ่มเปราะบาง การใช้ประโยชน์ขยะอาหารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นอาหารของสัตว์ การแปรรูปผลิตเป็นปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดิน การแปรรูปเป็นพลังงาน แต่สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม คือเรื่องของความร่วมมือ ความตระหนักรู้ การรู้ตนที่จะทำสิ่งใด ๆ ก็ตามเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ความตระหนักต่อปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม ต่อประเทศ ต่อโลกใบนี้
               ดร. เฉลิมชัย ได้กล่าวขอบคุณผู้ประกอบการทุกแห่งที่ได้ให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงปัญหาของการจัดการขยะอาหารและน้ำเสีย และเน้นย้ำว่า “ปัญหาขยะอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของของเสีย แต่เป็นเรื่องของทรัพยากรที่สูญเปล่า” ไม่ใช่แค่คำพูดที่พูดขึ้นมา แต่จะเป็นจริงหากทุกคนร่วมมือและช่วยกันในการป้องกันและลดการเกิดเป็นขยะอาหาร รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวคิด “ขยะอาหาร” คือ “ทรัพยากร” ที่ต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศดีขึ้น สอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ร่วมกับ กองประกวดนางสาวไทย สร้างแนวทางความร่วมมือ แต่งตั้ง Miss Climate Change 2025

               เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กองประกวดนางสาวไทย จัดงานแถลงข่าวการจัดการประกวดนางสาวไทยประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด “Melody of Siam” ณ ห้องศรีราชาแกรนด์ บอลรูม โรงแรมโอ๊ควู้ด โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวดังกล่าว
ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือ อินฟลูเอนเซอร์ในหลายวงการ ทั้งดารานักแสดง และ Youtuber พร้อมทั้งหาเครือข่ายใหม่ ๆ โดยเฉพาะเครือข่ายที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเวทีนางสาวไทย เป็นเวทีที่ทรงเกียรติและทรงคุณค่า ที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้มอบหมายให้ น้องขวัญ นางสาว ชรัญญา เพชรสุวรรณนาคะ นางสาวไทย พิษณุโลก 2568 เป็น “Miss Climate Change” โดยจะมาช่วยเป็นกระบอกเสียงและขับเคลื่อนกิจกรรมในการสร้างการรับรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เกิดกระแสสังคมในวงกว้างต่อไป
               สำหรับการประกวดในครั้งนี้มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 25 พฤษภาคม 2568 กรมลดโลกร้อนได้หารือและวางแนวทางกับกองประกวดนางสาวไทย เพื่อแต่งตั้งเป็น Climate Change Ambassador และ Miss Climate Change 2025 โดยแต่งตั้งนางสาวไทยประจำจังหวัด ประจำปี 2568 เป็น “Climate Change Ambassador” รวมกว่า 45 จังหวัด พร้อมทั้งคัดเลือกและแต่งตั้ง Miss Climate Change 2025 โดยคัดเลือกจากนางสาวไทยประจำจังหวัด จำนวน 3 ท่าน และนางสาวไทยประจำปี 2568 จำนวน 1 ท่าน รวมทั้งนางสาวไทยพิษณุโลก 2568 ที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว จำนวน 1 ท่าน รวม Miss Climate Change 2025 ทั้งสิ้น 5 ท่าน เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ์เป็นศูนย์ หรือ Net Zero รวมถึงมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

    

บทเรียนแผ่นดินไหว เขย่าระบบเตือนภัยไทย

               เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งรุนแรงเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติว่า เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คาดคิด และจากเหตุการณ์นี้ประเทศไทยได้ตกอยู่ในความไม่ปลอดภัยจากแรงสั่นสะเทือนใต้ดินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งต้องเตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบ
               แผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 8.2 ในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 13.20 น. ตามเวลาประเทศไทย (1) มีศูนย์กลางอยู่ใกล้เมืองมันดาเลย์ ห่างจากเมืองสะกายไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 16 กิโลเมตร ด้วยระดับความลึกเพียง 10 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์นี้รับรู้ได้เป็นวงกว้าง ครอบคลุมหลายพื้นที่ของไทยทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า จุดศูนย์กลางเกิดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,100 กิโลเมตร (2)
               แผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดจาก “รอยเลื่อนสะกาย” (Sagaing Fault) หนึ่งในรอยเลื่อนที่ทรงพลังและอันตรายที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทอดตัวยาวกว่า 1,200 กิโลเมตร ผ่ากลางเมียนมาและพาดผ่านเมืองสำคัญอย่างมัณฑะเลย์ เนปิดอว์ และย่างกุ้ง รอยเลื่อนนี้เคยก่อให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง เช่น ในปี 2455 ขนาด 8.0 ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ส่งผลให้เจดีย์สำคัญพังทลาย และแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงภาคเหนือและกรุงเทพมหานครของไทย ต่อมาในปี 2473 ก็เกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนเดียวกันนี้ขนาด 7.3 ที่เมืองพะโค ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน (2) นักธรณีวิทยาเตือนว่าแม้จะดูเงียบสงบในบางช่วง แต่รอยเลื่อนนี้กำลังสะสมพลังงาน และอาจปลดปล่อยออกมาอย่างรุนแรงอีกครั้ง (3)
               หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 – 8.0 บริเวณรอยเลื่อนสะกายจะเกิดผลกระทบลามถึงไทย โดยเฉพาะภาคเหนือที่อาจเผชิญแรงสั่นสะเทือนในระดับ 4 – 5 ทำให้หน้าต่างสั่น ผนังมีเสียงลั่น หรือของตกหล่นจากชั้นวาง ในบางกรณี แรงสั่นสะเทือนอาจรับรู้ได้ถึงภาคกลางและกรุงเทพฯ เหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนว่า แม้ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนหลักก็อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านได้ทุกเมื่อ (3)
               รอยเลื่อนสะกายมีโอกาสสูงถึง 90 – 100% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 (มาตราโมเมนต์ : Moment magnitude) ภายใน 50 ปี และยังมีความเป็นไปได้ 60 – 70% ที่แผ่นดินไหวขนาด 7.0 จะเกิดขึ้นในช่วงเมืองมิตจีนาถึงตอนเหนือของมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นจุดที่มีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุด ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ตามแนวรอยเลื่อนนี้มีโอกาสต่ำกว่า 50% (4)
               หากพิจารณาในระดับเมือง เมืองมิตจีนาและเนปิดอว์มีความเสี่ยงสูงที่สุด โดยมีโอกาส 40 – 60% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ในอีก 50 – 100 ปี ขณะที่มัณฑะเลย์และย่างกุ้ง แม้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มีประชากรหนาแน่น แต่กลับมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ต่ำกว่า 10% ภายใน 100 ปี อย่างไรก็ตาม การสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนสะกายอาจส่งแรงกระเพื่อมไปยังพื้นที่อื่นรวมถึงประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (4)
               แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวขอบแผ่นเปลือกโลก แต่ยังคงมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนมีพลังที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแนวรอยเลื่อนสำคัญ เช่น รอยเลื่อนแม่จัน, แม่อิง, แม่ฮ่องสอน, เมย, แม่ทา, เถิน, พะเยา, ปัว, อุตรดิตถ์, เจดีย์สามองค์, ศรีสวัสดิ์, ระนอง, คลองมะรุ่ย, เพชรบูรณ์, แม่ลาว และเวียงแห รอยเลื่อนเหล่านี้สามารถปลดปล่อยพลังงานและก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้หากมีการสะสมพลังงานเพียงพอ (5)
               ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ ยังเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตามแนวรอยเลื่อนอื่น ๆ เช่น แผ่นดินไหว ขนาด 6.5 ที่จังหวัดน่าน ในปี 2478 และ ขนาด 5.3, 5.9, 5.2 (3 ครั้ง) ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ในปี 2526 แม้โอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในไทยจะไม่สูงเท่ากับประเทศที่อยู่ในแนว Ring of Fire แต่แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาและลาว อาจส่งผลกระทบถึงไทยได้ ดังเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.8 ในเมียนมา เมื่อปี 2554 และครั้งล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น (5)
               แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการปลดปล่อยพลังงานในเปลือกโลก อันเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อน หรือแรงกระทำจากปัจจัยอื่น เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ หรือการยุบตัวของโพรงใต้ดิน แม้ว่าแผ่นดินไหวจะไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ แต่การศึกษาการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนและลักษณะทางธรณีวิทยาสามารถช่วยประเมินความเสี่ยงและวางแผนป้องกันล่วงหน้าได้ (6)
               การเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ประชาชนควรจัดบ้านเรือนให้ปลอดภัย โดยหลีกเลี่ยงการวางสิ่งของหนักบนที่สูง ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ให้มั่นคง และจัดเตรียมแผนฉุกเฉินสำหรับการอพยพ ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขณะอยู่ในอาคาร ควรหาที่หลบที่แข็งแรง เช่น ใต้โต๊ะที่มั่นคง หรืออยู่ใกล้เสาอาคารที่แข็งแรง พร้อมหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีกระจกหรือของตกแต่งแขวนอยู่เพื่อป้องกันอันตรายจากการหล่นทับ (6)
               หากอยู่ภายนอกขณะเกิดแผ่นดินไหวควรหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้เสาไฟฟ้า หรืออาคารสูงที่อาจถล่มได้ หากอยู่ในยานพาหนะควรหยุดรถในที่ปลอดภัยและหลีกเลี่ยงสะพานหรืออุโมงค์ที่อาจได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือน สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งควรเฝ้าระวังความเสี่ยงจากคลื่นสึนามิที่อาจเกิดขึ้นตามมา และติดตามประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด (6)
               แผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้ปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะรอยเลื่อนสะกายที่ยังคงเป็นภัยเงียบและต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็มีจุดเสี่ยงหลายแห่ง การเตรียมพร้อมของภาครัฐและประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่สามารถเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาระบบรับมือภัยพิบัติให้ดีขึ้น (7)
               ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เช่น สตาร์ทอัปจากญี่ปุ่นที่พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ โดยใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ฟุตเทจจากกล้องถนน ข้อมูลสภาพอากาศ และการจราจรแบบเรียลไทม์ ระบบสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลที่ได้รับการยืนยันภายใน 1 นาที ช่วยให้การติดตามภัยพิบัติแม่นยำและรวดเร็ว ปัจจุบันมีหน่วยงานท้องถิ่นและบริษัทกว่า 1,100 แห่งใช้งาน และมีแผนขยายสู่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย เทคโนโลยีลักษณะนี้เป็นแนวทางที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ เพื่อยกระดับระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (7)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) BBC News ไทย, แผ่นดินไหวขนาด 8.2 จากเมียนมา ทำตึกสูงย่านจตุจักรถล่ม พบผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย และสูญหายอีก 85 ราย
(2) Facebook : National Geographic Thailand, “รอยเลื่อนสะกาย” Sagaing Fault ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า
(3) Facebook : SpringNews, “รอยเลื่อนสะกาย” ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า ต้นตอแผ่นดินไหววันนี้ ขนาด 7.7
(4) mitrearth : มิตรเอิร์ธ, นิสัยการเกิดแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนสะกาย ประเทศพม่า
(5) ThaiPBS : The ACTIVE, ย้อนรอย ‘แผ่นดินไหวใหญ่’ ในไทย ตรงไหนยังเสี่ยง!
(6) กรมอุตุนิยมวิทยา, แผ่นดินไหว (Earthquake)
(7) Facebook : capitalread.co, จากบทเรียนแผ่นดินไหวปี 2011 สู่ Spectee Pro บริการจัดการวิกฤตของญี่ปุ่นที่พัฒนา AI รายงานภัยพิบัติแบบเรียลไทม์

กรมลดโลกร้อน ร่วมเสวนา “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน”

               วันนี้ (วันอังคารที่ 8 เมษายน 2568) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี จัดเสวนาในหัวข้อ “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วม
               การเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเสวนา ในหัวข้อ “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงภัยอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ และเชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ประกอบด้วย นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหว ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการองค์ความรู้และบทบาทการบริหารจัดการด้านธรณีพิบัติภัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีของการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจอันจะนำไปสู่การลดความหวั่นวิตกและสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน และพัฒนาขีดความสามารถของทุกภาคส่วนในการเตรียมพร้อม รับมือกับธรณีพิบัติภัย และการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้หลักการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน จับมือ GISTDA และ 4 หน่วยงานภาคการเกษตร ใช้ข้อมูลดาวเทียมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

               วันที่ 3 เมษายน 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดย ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลดาวเทียมในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร โดยได้รับเกียรติจาก นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นพยานในพิธี พร้อมด้วยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนา หัวข้อ กลยุทธ์ปรับตัวสู่อนาคต : แผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการเกษตรไทย ณ ห้องพระพรหม ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
               ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือฯ ในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาชุดข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนหลักในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ตลอดจนกลไก มาตรการที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ที่สอดคล้องกับความต้องการในภาคเกษตร ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมาย ไปสู่การปฏิบัติ และเสริมสร้างการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นให้กับเกษตรกรให้พร้อมกับการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในอนาคต ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
               ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีอวกาศมาสนับสนุนการพยากรณ์ความเสี่ยงและผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการบริหารจัดการภาคเกษตรและทรัพยากรน้ำอย่างแม่นยำ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเกษตรกรรม การจัดการทรัพยากรน้ำ และการวางแผนนโยบายเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยเน้นการใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งความร่วมมือนี้จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถกำหนดนโยบายเชิงรุก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติในระยะยาว เช่น การติดตามแนวโน้มภัยแล้งและน้ำท่วม เพื่อปรับแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยจะเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมสำหรับการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในด้านการแก้ปัญหาเชิงรุกอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี ซึ่งหน่วยงานพันธมิตรในครั้งนี้ จะร่วมกันผลักดันการใช้เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการภาคเกษตรและทรัพยากรน้ำของประเทศไทยให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวและลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของภาคการเกษตร

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ร่วมงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ 3 เมษายน 2568 “สืบสานพระราชปณิธาน บูรณาการน้ำบาดาลเพื่อความยั่งยืน”

               วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2568) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดย นายโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ (National Groundwater Day) ประจำปี 2568 ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน บูรณาการน้ำบาดาลเพื่อความยั่งยืน” พร้อมการจัดสัมมนาเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาล และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2568 ระหว่างวันที่ 2 – 3 เมษายน 2568 โดยได้รับเกียรติจาก ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
               การจัดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ประจำปี 2568 นี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยมีจุดม่งหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงประโยชน์ของน้ำบาดาล และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ให้น้ำบาดาลอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป และเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อความมั่นคงระดับชุมชน” และ “โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม โดยมีเป้าหมายทั้งสิ้น 72 แห่ง ทั่วประเทศ ครอบคลุม 59 จังหวัด ภายในงานยังได้จัดกิจกรรมการบรรยาย หรือการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเครือข่ายน้ำบาดาล นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบรางวัลเครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น ประจำปี 2568 จำนวน 4 ประเภท รวมทั้งสิ้น 58 รางวัล และยังมีการจัดนิทรรศการของภาคีเครือข่ายเพื่อนำเสนอผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากน้ำบาดาลด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึก และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล และร่วมกัน สืบสานพระราชปณิธานในการร่วมกันดูแล รักษา ปกป้องทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

3 เมษายน วันน้ำบาดาลแห่งชาติ (National Groundwater Day) “สืบสานพระราชปณิธาน บูรณาการน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน”

3 เมษายน วันน้ำบาดาลแห่งชาติ (National Groundwater Day) “สืบสานพระราชปณิธาน บูรณาการน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน”
               ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อรูปแบบของฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป การเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิ รวมทั้งปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยด้วย ดังนั้นทรัพยากรน้ำบาดาล จึงเป็นทรัพยากรหนึ่งที่มีความสำคัญ และมีความจำเป็น ที่ควรต้องอนุรักษ์และรักษาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากเป็นน้ำที่คนไทยทั้งประเทศได้ใช้ประโยชน์ทั้งการอุปโภคบริโภค และใช้แก้ปัญหาภัยแล้งได้ นอกจากนี้ยังเป็นน้ำต้นทุนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและประโยชน์ด้านต่างๆ
               เนื่องในวันน้ำบาดาลแห่งชาตินี้ กรมลดโลกร้อน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำบาดาลอย่างรู้คุณค่าควบคู่ไปกับการอนุรักษ์น้ำเพื่อที่จะทำให้น้ำบาดาลอยู่คู่กับคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”