ฝุ่นพิษวิกฤต PM2.5 ความท้าทายยุคโลกรวน

               ประเทศไทยยังคงเผชิญกับวิกฤตมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในทุกปี โดยช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ทั้งช่วงเวลาของการเกิดปัญหาและระดับความรุนแรงของ PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่และพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่ง PM2.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่สุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศอีกด้วย (1)
               ปัญหาฝุ่น PM2.5 มักจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) และฤดูร้อน (มีนาคม-เมษายน) เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งและลมสงบในสองช่วงฤดูนี้ ทำให้ฝุ่น PM2.5 สะสมอยู่ในอากาศมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวโดยรวม อันเนื่องมาจากทัศนียภาพที่ไม่แจ่มใส และข้อกังวลด้านสุขภาพ (1)
               สาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยนั้นมาจากหลายปัจจัยที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่า การการเผาในที่โล่งหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การเผาขยะ ที่ถือเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ในการก่อให้เกิดมลพิษอากาศ นอกจากนี้ ระบบขนส่งในเขตเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นก็เป็นอีกแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่น PM2.5 (1) รถยนต์ดีเซลก็ถูกระบุให้เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยมลพิษทางอากาศอีกด้วย (5)
               อีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามคือ ภาคอุตสาหกรรมโดยโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งยังคงปล่อยมลพิษทางอากาศ และเป็นหนึ่งในอีกสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ยิ่งไปกว่านั้นสภาพอากาศที่แห้งและลมสงบยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ฝุ่น PM2.5 สะสมอยู่ในอากาศมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้เมื่อทำงานร่วมกัน จึงทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทายในการแก้ไขอย่างยิ่ง (1)
               แม้สถานการณ์ PM2.5 จะยังคงน่ากังวล แต่ภาครัฐก็มีความพยายามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ไขหลายอย่าง เช่น การควบคุมการเผาในที่โล่ง การปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จลุล่วง (1)
               แม้ว่าภาพรวมของประเทศในปี 2567 ปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงจะลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตของปีก่อนหน้า แต่ในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันตก กลับมีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 211 และในช่วงเวลาใกล้เคียงนี้ คาดการณ์ว่าฝุ่นละอองจะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (2)
               รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และเตรียมรับมือสถานการณ์อย่างเข้มข้น พร้อมสื่อสารอย่างรวดเร็วในทุกระดับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรการนี้จะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขต และระดับจังหวัด (2)
               มาตรการดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่ระยะเตรียมการ เช่น การจัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา และแผนปฏิบัติการจัดการไฟป่า ไปจนถึงการจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงการจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยมีการควบคุมการเผาและส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต นอกจากนี้ ยังมีมาตรการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง เช่น การจำกัดการเข้าเมืองของรถบรรทุกขนาดใหญ่ในช่วงวิกฤต การสนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะ และการตรวจจับรถยนต์ควันดำ (2)
               ในส่วนของการจัดการหมอกควันข้ามแดน รัฐบาลจะส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา และหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าหมายที่จะลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ป่าร้อยละ 25 และลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรและพืชเป้าหมายร้อยละ 10 – 30 รวมถึงควบคุมฝุ่นจากยานพาหนะและโรงงานในพื้นที่เมืองอย่างเข้มงวด เป้าหมายโดยรวมคือการลดค่าเฉลี่ย PM2.5 ลงร้อยละ 5 – 15 และลดจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานลงร้อยละ 5 – 10 (2)
               กรมควบคุมมลพิษให้ข้อมูลว่า ปกติแล้วค่า PM2.5 จะสูงในช่วงการเปลี่ยนฤดูกาลจากฤดูหนาวไปสู่ฤดูร้อน แม้ว่าการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ อาจจะเท่าเดิม แต่สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝุ่นละอองไม่กระจายตัวและเกิดการสะสมของมลพิษ เช่น ความเร็วลม กระแสลม และการเกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (3)
               ในฤดูหนาวนั้นสภาพความกดอากาศสูง โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ทำให้พื้นดินคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินเย็นตามไปด้วย อากาศที่เคยร้อนลอยขึ้นไปคั่นอยู่ระหว่างชั้นอากาศเย็น ซึ่งเรียกว่า ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature inversion) ปรากฏการณ์นี้ทำให้อากาศไม่สามารถลอยตัวขึ้นในแนวดิ่งได้ เหมือนมีฝาชีหรือโดมครอบไว้ จึงเกิดการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศ ประกอบกับลมสงบและการไหลเวียนถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นละออง หมอก และควัน สะสมในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น (3)
               สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครในปี 2568 ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น แม้ว่าในปี 2567 ที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพฯ จะสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ลดลงจากปีก่อนหน้า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 และ 2568 พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ในช่วงต้นเดือนมกราคม กลับพุ่งสูงขึ้นในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (4)
               ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2568 ประเทศไทยเผชิญกับอากาศหนาวเย็นมากกว่าปกติ เนื่องจากมวลอากาศเย็นจัดจากจีนแผ่ปกคลุม ทำให้เกิดลักษณะคล้ายฝาชีครอบ ฝุ่นพิษจึงถูกกักไว้ในชั้นบรรยากาศ ไม่สามารถกระจายออกไปได้ ค่าฝุ่นจึงพุ่งสูงจนเกินมาตรฐาน (4)
               สำหรับต้นกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ นั้นส่วนใหญ่มาจากการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล ตามมาด้วยการเผาในที่โล่ง และมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือ ปริมาณฝุ่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มิใช่ฝุ่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยตรง แต่เป็นมลพิษที่ถูกพัดพามาจากนอกพื้นที่ (4)
               เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว คณะกรรมการควบคุมมลพิษ (กก.คพ.) ยังได้ให้ความเห็นชอบมาตรฐานควบคุมการระบายมลพิษทางด้านอากาศที่เข้มข้นขึ้น ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มาตรฐานใหม่นี้ รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถจักรยานยนต์ใหม่ให้เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และไนโตรเจนออกไซด์ รวมถึงควบคุมฝุ่นละอองและไฮโดรคาร์บอนที่ไม่ใช่มีเทน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2572 นอกจากนี้ ยังมีการปรับเกณฑ์มาตรฐานควันดำจากรถยนต์ดีเซลให้เข้มงวดขึ้น จากเดิมไม่เกินร้อยละ 30 เป็นไม่เกินร้อยละ 20 (5)
               หลายประเทศทั่วโลกก็เผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศเช่นเดียวกับประเทศไทย และได้มีการนำโมเดลการจัดการที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ จีนเป็นตัวอย่างที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านการจัดการคุณภาพอากาศ โดยธนาคารโลกได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการนำโมเดล GAIN มาใช้ในเขตสามเหลี่ยม “จิงจินจี่” ซึ่งช่วยลดความเข้มข้นเฉลี่ยต่อปีของฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเน้นการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของประสิทธิผลเทียบต้นทุน (6)
               เวียดนามเองก็ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลกในการวิเคราะห์แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงฮานอย และพัฒนาโมเดลคุณภาพอากาศ โดยใช้การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของประสิทธิผลเทียบต้นทุนในการกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ข้อค้นพบที่สำคัญคือ PM2.5 ในฮานอยมีแหล่งกำเนิดจากภายนอกเมืองถึงสองในสาม ทำให้ต้องทำงานร่วมกับจังหวัดข้างเคียง และประเทศเพื่อนบ้าน (6)
               กรุงอัมสเตอร์ดัมในประเทศเนเธอร์แลนด์ใช้ “แผนปฏิบัติการฟ้าใส” โดยมุ่งเน้นไปที่แหล่งกำเนิดมลพิษที่เทศบาลนครสามารถควบคุมได้ เช่น การจราจร และมีการให้เงินอุดหนุนและส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งกำหนดเขตปลอดมลพิษ ส่วนลอนดอนในสหราชอาณาจักรได้กำหนดเขตพื้นที่การปล่อยมลพิษต่ำขั้นสุด (Ultra Low Emission Zone) และคิดค่าธรรมเนียมกับยานพาหนะที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งช่วยลดมลพิษได้อย่างมาก ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการมีมาตรการที่ชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหา PM2.5 (6)
               สำหรับประชาชนทั่วไป การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือเดินทางด้วยจักรยานหรือเดินเท้ามากขึ้น การประหยัดพลังงานและการปลูกต้นไม้ก็เป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ (1)
               อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นความท้าทายในยุคโลกรวนที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้แหล่งที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตในทุกพื้นที่ของประเทศมีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ และประชาชนมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรมประชาสัมพันธ์ : PRD (The Government Public Relations Departmnet), สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย
(2) กรมควบคุมมลพิษ (Pollution Control Department), “คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และเตรียมการรับมือ ในปี 2568”
(3) โครงการศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (GCC : Government Cotact Center), กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยฤดูหนาว ทำไมฝุ่นสูง
(4) ThaiHealth Resource Center : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ปี 2568 ฝุ่น PM 2.5 คลุมเมือง วิกฤตมลพิษอากาศของคนกรุง
(5) กรมควบคุมมลพิษ (Pollution Control Department), กก.คพ. ให้ความเห็นชอบมาตรฐานการระบายมลพิษเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 – ควบคุมน้ำเสีย ที่เข้มขึ้น
(6) Thai PBS, Policy Watch : จับตาอนาคตประเทศไทย, เปิดโมเดลแก้ PM 2.5 จากต่างชาติ “ได้ผล-ยั่งยืน”

7 วิธีป้องกัน Heat Stroke ง่าย ๆ ในช่วงหน้าร้อน

               สภาพอากาศรุนแรง (Extreme Weather Events) ยังคงเป็นหนึ่งในภัยคุกคามหลักของโลก โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนเป็นประวัติการณ์นี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรจำนวนมาก เราทุกคนสามารถป้องกันภัยจากความร้อนได้ง่าย ๆ ด้วย 7 วิธี ดังต่อไปนี้
               1. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว 💧
               2. หากเล่นกีฬาเป็นเวลานาน ให้ดื่มน้ำและเกลือแร่เพื่อทดแทนร่างกายที่สูญเสียน้ำ ⛹️‍♂️
               3. หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดด หรือออกกำลังกายในที่บริเวณอากาศร้อนจนเกินไป 🧗‍♀️
               4. สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่งบาง เบา ระบายความร้อนได้ และป้องกันแสงแดดได้
               5. สวมหมวกหรือกางร่มเมื่ออยู่กลางแจ้ง 👨🏼‍🌾☂️
               6. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ร่างกายจะสูญเสียน้ำมากขึ้น 🍻
               7. ไม่อยู่ในรถที่จอดตากแดดไว้กลางแดด เพราะอุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 🚘

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
– กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM (สายด่วนนิรภัย 1784)

รับสมัครลูกจ้างเหมาบริการ ตำแหน่ง นักวิชาการเงินและบัญชี 1 ตำแหน่ง (สำนักงานเลขานุการกรม) อัตราเงินเดือน 15,000 บาท ระยะเวลารับสมัครตั้งแต่ 25 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2568

กรมลดโลกร้อน เปิดตัว “SAVE THE EARTH GAME” ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ สู้วิกฤตโลกเดือด

               วันที่ 22 เมษายน 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดกิจกรรม “SAVE THE EARTH GAME” บอร์ดเกมพิชิตโลกเดือด เสริมสร้างกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผนแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้แก่คนรุ่นใหม่ โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกรมฯ วิทยากร และมีผู้เข้าร่วมอบรมที่ผ่านการคัดเลือก 27 ทีม รวม 60 คน เข้าร่วมพิธีเปิด ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
               ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สภาพอากาศรุนแรง (Extreme Weather Events) ยังคงเป็นหนึ่งในภัยคุกคามหลักของโลก โดยเป็นอันดับที่ 2 ของความเสี่ยงในปี 2025 และอันดับ 1 ของความเสี่ยงระยะยาวในปี 2035 สะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในทศวรรษหน้า ซึ่งเมื่อปี 2024 ที่ผ่านมาเป็นปีที่โลกเผชิญกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศอย่างหนัก ทั้งการเกิดคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย การเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในบางพื้นที่ รวมถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบโลก (Critical Change to Earth Systems) ก็กำลังเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอัตราการละลายของธารน้ำแข็งที่เพิ่มสูงขึ้นและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังส่งผลให้เมืองชายฝั่งหลายแห่งทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมถาวร จึงอยากขอให้ทุกคนเห็นความสำคัญกับการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังส่งกระทบรุนแรงและใกล้ตัวพวกเรามากขึ้นในทุกขณะ ประกอบกับวันนี้เป็นวันสำคัญทางสิ่งแวดล้อมอีกวันหนึ่ง ได้แก่ “วันคุ้มครองโลก” (Earth Day) ที่ตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี โดยในปี 2025 นี้ ทั่วโลกได้ร่วมกันรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “พลังของเรา โลกของเรา: Our Power, Our Planet” ซึ่งกิจกรรม “SAVE THE EARTH GAME” บอร์ดเกมพิชิตโลกเดือด นับว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างกระแสสังคมให้เข้าถึงประชน โดยเฉพาะเยาวชนครุ่นใหม่ได้ โดยเกมที่ชนะการประกวดในครั้งนี้ กรมลดโลกร้อน จะนำไปพัฒนาเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
               สำหรับ การจัดกิจกรรม “SAVE THE EARTH GAME” บอร์ดเกมพิชิตโลกเดือด มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องมือการเรียนรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะสามารถพัฒนากระบวนการคิด และนำมาปรับใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ รวมทั้งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่าย เสริมสร้างกระบวนการในการคิด วิเคราะห์ และวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยกำหนดให้มีการอบรมสร้างความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างบอร์ดเกม ระหว่างวันที่ 22 – 23 และ 29 เมษายน 2568 ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 27 ทีม รวม 60 คน และจะมีการตัดสินผลงาน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล มูลค่า 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จำนวน 1 รางวัล มูลค่า 25,000 บาท พร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จำนวน 1 รางวัล มูลค่า 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และ รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล มูลค่า 5,000 บาท รวมมูลค่าเงินรางวัลกว่า 100,000 บาท

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กรมลดโลกร้อน ขอเชิญเข้าร่วมอบรมหลักสูตรออนไลน์ การจัดการของเสียเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

Continue reading “กรมลดโลกร้อน ขอเชิญเข้าร่วมอบรมหลักสูตรออนไลน์ การจัดการของเสียเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

กรมลดโลกร้อน เปิดรับสมัคร เจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการ (วุฒิปริญญาโท จำนวน 1 ตำแหน่ง) ทำงาน ณ กลุ่มบัญชีก๊าซเรือนกระจก กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก

กรมลดโลกร้อนร่วมงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮิจเราะห์ศักราช 1446 “ตามรอยนบี วิถีศรัทธา นำพาสังคม สู่สันติสุข”

               วันที่ 18 เมษายน 2568 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี 2568 ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมร่วมถวายรายงานเนื่องในโอกาสที่กรมลดโลกร้อนร่วมจัดแสดงนิทรรศการงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮิจเราะห์ศักราช 1446 “ตามรอยนบี วิถีศรัทธานำพาสังคม สู่สันติสุข” เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุคโลกเดือด” ประกอบด้วย โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จำนวน 10 โครงการ การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจกสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศสุดขั้ว (Climate Risk Index) แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนจากภาวะโลกร้อน เข้าสู่ยุคโลกเดือด และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมในสมัสยิด หรือ มัสยิดสีเขียว ดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ศาสนสถานสามารถเป็นต้นแบบและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับชาวมุสลิมและชุมชนโดยรอบให้เตรียมพร้อมตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยายเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ขอเชิญบุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐที่มาติดต่อราชการ หรือเคยมารับบริการ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสระดับชาติ

               กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขอเชิญบุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐที่มาติดต่อราชการ หรือเคยมารับบริการกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสระดับชาติ โดยให้คะแนนการบริหารงานการปฏิบัติงานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (EIT) ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ได้ที่ https://itas.nacc.go.th/go/eit/4wjstd หรือวิธีการง่ายๆ เพียงสแกน QR Code 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานจริยธรรม 0 2278 8400 ต่อ 1909, 1954

Climate Risk Index (CRI) ดัชนีชี้วัดประเทศเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศสุดขั้ว

• CRI ดำเนินงานโดย Germanwatch ก่อตั้งปี 1991 เป็น NGO ด้านการพัฒนาและสภาพภูมิอากาศที่ทรงอิทธิพลมาร่วม 30 ปี
• มีบทบาท คือการวิเคราะห์และจัดอันดับประเทศเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ น้ำท่วม คลื่นความร้อน และภัยแล้ง
• ใช้ฐานข้อมูล จากจำนวนผู้เสียชีวิต ความเสียหายทางเศรษฐกิจ และจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
• ใช้วิธีการประเมินผลย้อนหลัง แสดงระดับผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงสองปีก่อนการเผยแพร่ดัชนี และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
• มีประสบการณ์กว่า 30 ปี ดำเนินโครงการสำเร็จมาแล้วกว่า 650 โครงการ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านสภาพอากาศและการพัฒนาในเยอรมนีและยุโรป
• Christoph Bals ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย Germanwatch ที่มีบทบาทสำคัญในการนำองค์กรมุ่งเน้นประเด็นการพัฒนาและสภาพภูมิอากาศตั้งแต่แรกเริ่ม

ไทยพ้นกลุ่มเสี่ยง 10 อันดับแรก
               • Climate Risk Index 2025 ระบุว่า ปี 2022 ประเทศไทยมีค่าดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ อันดับ 72 ลดลงจาก อันดับ 34 ในปี 2019
               • ดัชนีระยะยาว (1993-2022) ไทยอยู่ในอันดับ 30 ลดลงจากอันดับ 9 ในช่วงปี 2000-2019 แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เผชิญความสูญเสียรุนแรงขึ้น
               • ประเทศไทยเคยติด 10 อันดับแรกของประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในหลายช่วงเวลา เช่น
                    ● อันดับ 9 ในช่วงปี 1995-2014
                    ● อันดับ 10 ในช่วงปี 1998-2017
                    ● อันดับ 8 ในช่วงปี 1999-2018
                    ● อันดับ 9 ในช่วงปี 2000-2019

โลกรวนรุนแรงขึ้น
               • Climate Risk Index 2025 ชี้แนวโน้มภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
               • ช่วงปี 1993-2022 มีการบันทึกเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า 9,400 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 765,000 ราย และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกว่า 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
               • สัดส่วนผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ พายุ (35%) คลื่นความร้อน (30%) และอุทกภัย (27%)
               • พายุเป็นสาเหตุที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุด = 2.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 56% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาอุทกภัย = 1.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 32% ของความเสียหายทั้งหมด
               • CRI 2025 เปิดชื่อ 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาพอากาศสุดขั้วในปี 2022 ได้แก่ ปากีสถาน เบลีซ อิตาลี กรีซ สเปน เปอร์โตริโก สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย โปรตุเกส และบัลแกเรีย ตามลำดับ
               • ปากีสถานได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 คน ส่วนอิตาลีและกรีซเผชิญคลื่นความร้อน อุณหภูมิสูงเกิน 40°C เกิดไฟป่าขนาดใหญ่
               • ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงปี 1993-2022 แบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก
                    -กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติรุนแรง เช่น โดมินิกา ฮอนดูรัส เมียนมา และวานูอาตู
                    -กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์

ประเทศยากจนกระทบมากสุด
               • Climate Risk Index (CRI) เผยแพร่รายงานฉบับแรก ปี 2006 ระบุว่า ประเทศที่มีรายได้น้อยที่สุดจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศมากที่สุด
               • CRI จัดอันดับประเทศตามผลกระทบทางเศรษฐกิจและของมนุษย์ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจะอยู่ในอันดับสูงสุด จึงสะท้อนให้เห็นว่าประเทศใดกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากโลกร้อนมากที่สุด
               • Germanwatch ยังทำงานในประเด็นอื่น ๆ เช่น การลดและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ ความมั่นคงทางอาหารและการใช้ที่ดิน การเงินที่ยั่งยืน และการฟ้องร้องด้านสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชน ผ่านเครือข่ายอาสาสมัครและความร่วมมือกับองค์กรระดับนานาชาติ

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) GermanWatch, Climate Risk Index 2025

กรมลดโลกร้อน เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาบูรณาการประเด็น Climate Change

               กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูล ระดับสูง (Eco-School Advance) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างวันที่ 8 – 11 เมษายน 2568 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต่อยอด และยกกระดับการดำเนินงานที่ครอบคลุมพันธกิจของโครงการฯ ทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพันธกิจที่ 2 การจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งได้กำหนดให้มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา (รายวิชาเพิ่มเติม) ให้เหมาะสมและเท่าทันกับสถานการณ์ รวมถึงบริบทของท้องถิ่น โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ
               การจัดอบรมฯ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดและมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วม โดยประธานในพิธีฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรท้องถิ่นที่สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนัก และการลงมือปฏิบัติเพื่อการตั้งรับ และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสถานศึกษา รวมถึงครูและผู้เรียนต่อไปได้ โดยในตอนท้ายได้กล่าวขอบคุณคณะวิทยากรที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ และให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้มีความถูกต้อง เหมาะสมตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับหลักการของโครงการฯ สำหรับการอบรมฯ ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจาก 21 โรงเรียน รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 50 คน

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”