ทำไม… ประเทศไทย ต้องส่งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)
จากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้เกิดข้อตกลงร่วมกันของประเทศภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ขึ้นมาเรียกว่า “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ที่มีข้อกำหนดให้ทุกประเทศภาคีสมาชิก UNFCCC จะต้องมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีสมาชิก UNFCCC ได้จัดส่ง เป้าหมายระยะยาว หรือ ที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ” (Thailand’s Long-term greenhouse gas emission development strategy : LT-LEDs) และเป้าหมายระยะสั้น หรือ “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” (Nationally Determined Contribution) ให้กับ UNFCCC เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
“ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ” หรือ LT-LEDs เป็นเสมือน “เข็มทิศ” ใน การพัฒนาประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และ ก๊าชเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 โดยมีมาตรการหลักที่สำคัญ ได้แก่
– การส่งเสริมการใช้ปูนชีเมนต์ไฮดรอลิค และการปลูกข้าวแบบปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ ภายในปี พ.ศ. 2568
– ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และลดการใช้ยานยนต์สันดาปภายใน ภายในปี พ.ศ. 2573
– ส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ภายในปี พ.ศ. 2578
– เพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวให้ได้ ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. 2580 (ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ)
– ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี CCS CCUS BECCS รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ ร้อยละ 68 ภายในปี พ.ศ. 2583
– ส่งเสริมการใช้พลังงานไฮโดรเจน ภายในปี พ.ศ. 2588
– ยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ ร้อยละ 74 ภายในปี พ.ศ. 2590 (ซึ่งเป็นปีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ)
ส่วน “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” ฉบับที่ 1 หรือ NDC1 ที่ประเทศไทยได้จัดส่ง UNFCCC ไปนั้น ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 30 ถึง 40 จากกรณีปกติ หรือ BAU ภายในปี พ.ศ. 2573
BAU หรือ Business As Usual หมายถึง ค่าประมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ณ ปี พ.ศ. 2573 ในกรณีที่ประเทศไทยมิได้ดำเนินการใดๆ เลย ซึ่งคาดประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ร้อยละ 30 หมายถึง เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกรณีที่เป็นการดำเนินการเองภายในประเทศ หรือคิดเป็น 167 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและอีก ร้อยละ 10 หมายถึง เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกรณีที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทั้งในด้านงบประมาณและเทคโนโลยี หรือคิดเป็น 55 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”