วันที่ 9 เมษายน 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานงานสัมมนา “From Food Waste to Well being รวมพลังผู้ประกอบการ…จัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี” โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานและมอบนโยบายการจัดการขยะอาหารและน้ำเสีย และมีนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม. ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการขยะอาหารและน้ำเสีย และมีผู้แทนสถานประกอบการ เข้าร่วมงานกว่า 450 คน
               ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวว่า ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับสภาวะโลกเดือดที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อาหารที่กลายมาเป็นของเสีย หรือที่เรียกว่า ขยะอาหาร เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในบรรยากาศ ซึ่งทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นหรือโลกร้อนขึ้น และยังเป็นเรื่องของทรัพยากรที่สูญเปล่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงอยากเชิญชวนทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนแนวคิดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “อาหารต้องไม่เป็นของเสีย” อาหารที่พวกเรารับประทาน ต้องใช้ทรัพยากรในการผลิต ทั้งทรัพยากรน้ำ พลังงาน และความอุดมสมบูรณ์ของดิน แรงงาน เงิน บางพื้นที่ถ้าทำการเกษตรแบบบุกรุกป่าก็สูญเสียทรัพยากรป่าไม้ไปด้วย เมื่อเราทิ้งเป็นขยะก็กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องจัดการที่ต้องเสียงบประมาณไปกำจัด ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งปี 27 ล้านตัน เป็นขยะอาหารมากกว่า 10 ล้านตัน หรือ 37% และในทุกวันประเทศไทยมีน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากชุมชน 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 43% ของน้ำเสียทั้งหมด ซึ่งขยะอาหารและน้ำเสียก็จะมาจากบ้านเรือน จากผู้บริโภค จากธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชน จึงเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการให้ถูกต้องและดีขึ้น
               นโยบายในการจัดการขยะอาหารและน้ำเสียของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและน้ำเสียเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงเป็นการส่งเสริมให้มีการนำขยะอาหาร รวมถึงน้ำเสียไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยและน้ำเสียที่จะต้องนำไปกำจัดหรือบำบัด มุ่งเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น การสร้างให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ อาทิ การวางแผนบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ การบริจาคอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้ให้แก่ผู้ยากไร้หรือกลุ่มเปราะบาง การใช้ประโยชน์ขยะอาหารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นอาหารของสัตว์ การแปรรูปผลิตเป็นปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดิน การแปรรูปเป็นพลังงาน แต่สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม คือเรื่องของความร่วมมือ ความตระหนักรู้ การรู้ตนที่จะทำสิ่งใด ๆ ก็ตามเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ความตระหนักต่อปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม ต่อประเทศ ต่อโลกใบนี้
               ดร. เฉลิมชัย ได้กล่าวขอบคุณผู้ประกอบการทุกแห่งที่ได้ให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงปัญหาของการจัดการขยะอาหารและน้ำเสีย และเน้นย้ำว่า “ปัญหาขยะอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของของเสีย แต่เป็นเรื่องของทรัพยากรที่สูญเปล่า” ไม่ใช่แค่คำพูดที่พูดขึ้นมา แต่จะเป็นจริงหากทุกคนร่วมมือและช่วยกันในการป้องกันและลดการเกิดเป็นขยะอาหาร รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวคิด “ขยะอาหาร” คือ “ทรัพยากร” ที่ต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศดีขึ้น สอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”