วันที่ 27 มีนาคม 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษา เป้าหมาย แนวทาง และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้ NDC 3.0 พร้อมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ฉบับที่ 2 หรือ “NDC 3.0” โดยจะยกระดับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกประเทศไทยให้ได้ 109.2 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี พ.ศ. 2578 เพื่อรักษาอุณภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม หน่วยงานในระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท และผ่านระบบออนไลน์ รวมกว่า 250 คน
               ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยจะเดินหน้ายกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ NDC 3.0 ซึ่งมีกำหนดเสนอต่อสำนักเลขาธิการของ UNFCCC ภายในเดือนกันยายน 2568 ก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 30 (COP30) ณ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 โดย NDC 3.0 จะเปลี่ยนรูปแบบการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เปรียบเทียบกับกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปกติ ที่ไม่มีการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก (Business as Usual: BAU) ไปเป็นการเปรียบเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง ณ ปี ค.ศ. 2019 หรือ Absolute Emissions Reduction Target ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ (Economy-Wide) พร้อมตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ไม่เกิน 152 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO₂e) ภายในปี ค.ศ. 2035 ซึ่งรวมการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน (LULUCF) ที่คาดว่าจะสามารถดูดกลับได้ ไม่น้อยกว่า 118 MtCO₂e จะทำให้ประเทศไทย ลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการเองในประเทศ (Unconditional Target) ได้ 76.4 MtCO₂e และจากการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ (Conditional Target) อีก 32.8 MtCO₂e ซึ่งหากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง ร้อยละ 60 จากปีฐาน ค.ศ. 2019 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญสู่เส้นทางการจำกัดอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
               ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า มาตรการสำคัญที่ประเทศไทยจะสามารถยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 60 นั้น มาจากการขยายผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งจะเป็นการดำเนินการเองได้ในภายในประเทศ และการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศในเทคโนโลยีที่มีการลงทุนสูง ได้แก่ เทคโนโลยีไฮโดรเจนในภาคการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรม Battery Energy storage System (BESS) เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors: SMR) การผลิตปูนซีเมนต์แบบปล่อยคาร์บอนต่ำ เทคโนโลยีการกำจัดของเสียและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปลูกข้าวแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ การปรับปรุงพันธุ์และอาหารสัตว์ เป็นต้น

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”