กรมลดโลกร้อน จับมือ TEI พัฒนาแนวทางการปรับตัวสู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ อย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม
วันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาแนวคิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทยภายใต้โครงการพัฒนาแนวทางและศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ห้องประชุมพระพรหม ชั้น 3 โรงแรม อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกว่า 100 คน
การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวคิดและหลักการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ครอบคลุมตามแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) ทั้ง 6 สาขา รวมถึงแนวทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของชุมชนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2 พื้นที่ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดเชียงราย ใน 2 สาขา (สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์) โดยมีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปพัฒนาแนวคิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทยอย่างบูรณาการ เชื่อมโยง 6 สาขาสำคัญที่มีความเสี่ยง ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่งคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ซึ่งการพัฒนาแนวทางและศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับทุกภาคส่วน ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงการตั้งรับในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) รวมถึงมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการปรับตัวของทุกภาคส่วน และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”