เกษตรออร์แกนิกลดโลกร้อน ทางเลือกเพื่อทางรอดมนุษยชาติ
การใช้ปุ๋ยเคมีและการเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเกิดวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบัน โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาก๊าซไนตรัสออกไซด์หนึ่งในตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานวิจัยระบุว่าระหว่างปี 1980 – 2020 การปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์เพิ่มขึ้นถึง 40% โดยภาคเกษตรกรรมมีส่วนในการปล่อยก๊าซชนิดนี้มากถึง 74% ของการปล่อยทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพียงอย่างเดียวมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ในภาคเกษตร (5)
มีความพยายามผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอาหารให้มุ่งไปทำเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกเพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีศักยภาพช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่คำถามสำคัญก็คือ “เราสามารถเปลี่ยนไปใช้เกษตรอินทรีย์ทั่วโลกได้หรือไม่?” งานวิจัยชี้ว่า หากการทำเกษตรอินทรีย์ถูกนำมาใช้ทั่วโลก ควบคู่ไปกับการลดขยะอาหารและการลดการบริโภคเนื้อสัตว์จะสามารถช่วยเลี้ยงประชากรโลกได้โดยไม่เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร แต่ก็มีข้อสังเกตด้วยเช่นเดียวกันว่า ระบบนี้อาจจำเป็นต้องใช้ที่ดินเพิ่มขึ้น 16-33% และจะนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นในบางกรณี (2)
วารสาร Nature Communications ระบุว่า การขยายระบบเกษตรอินทรีย์สามารถลดการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ที่ต่ำกว่าการเกษตรแบบทั่วไป นักวิจัยจึงเสนอแนวทางแก้ไขผ่าน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การลดขยะอาหาร การใช้พืชอาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการลดการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลืองและข้าวโพด ซึ่งช่วยลดพื้นที่การเลี้ยงปศุสัตว์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรได้ (2)
แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า หากเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ 100% อาจทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นถึง 15% ภายในปี 2050 ทว่าหากมีการจัดการระบบอาหารที่ดี เช่น ลดปริมาณขยะเศษอาหาร และนำอาหารที่เคยใช้เลี้ยงปศุสัตว์กลับมาใช้เป็นอาหารมนุษย์โดยตรง การใช้ที่ดินเพิ่มเติมจะลดลงอย่างมาก และสามารถทำให้ระบบเกษตรอินทรีย์มีความเป็นไปได้ในวงกว้าง นอกจากนี้ เกษตรอินทรีย์ยังช่วยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้ถึง 27% โดยเฉพาะจากการเลิกผลิตปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ (2)
ทั้งนี้ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14% ของปริมาณทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งเทียบเท่ากับภาคคมนาคมขนส่งทุกประเภทรวมกัน การลดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ลงและหันมาบริโภคพืชผักมากขึ้นจึงช่วยลดโลกร้อนได้ในระดับเดียวกับการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว (3)
นอกจากการลดเนื้อสัตว์แล้ว ผู้บริโภคยังสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยโลกด้วยการเลือกบริโภคอย่างมีสติ งานวิจัยพบว่า 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์นั้นเกี่ยวข้องกับภาคอาหารทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงขยะอาหารที่ถูกทิ้ง การเลือกซื้ออาหารที่มาจากเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ออร์แกนิก และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ (5)
ภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำคัญ คิดเป็น 15.03% ของการปล่อยทั้งหมดในปี 2023 หรือประมาณ 67.87 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) โดยกิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเหล่านี้ ได้แก่ การปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ เช่น การปลูกข้าว การใช้ปุ๋ยเคมี และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การหมักในระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง และการจัดการมูลสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศเพิ่มขึ้น (6)
อย่างไรก็ตาม แม้ภาคเกษตรจะเป็นสาเหตุก่อโลกร้อน แต่หากมีการปรับระบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชหมุนเวียน และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดินมากขึ้น หรือการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหมาะสม เช่น การนำเศษพืชมาใช้เป็นวัสดุคลุมดินแทนการเผาสามารถช่วยลดมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดโลกร้อน แต่ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น และส่งเสริมความยั่งยืนในภาคการเกษตรของไทย (5)
ในระดับโลก ฟาร์มออร์แกนิกถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากใช้พลังงานน้อยกว่าฟาร์มทั่วไป ตัวอย่างในยุโรปหากนำระบบเกษตรอินทรีย์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรอาจลดลงถึง 40-50% ภายในปี 2050 เนื่องจากเกษตรอินทรีย์มีจุดแข็งในการอนุรักษ์ดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งช่วยลดมลพิษในดินและน้ำ รวมถึงเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดินได้มากขึ้น (7)
เกษตรอินทรีย์ช่วยเสริมความยืดหยุ่นของระบบอาหารโดยให้ความสำคัญกับสุขภาพของดิน ลดมลพิษ และลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ดินที่อุดมสมบูรณ์จากการบำรุงด้วยปุ๋ยหมักและมูลสัตว์สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากขึ้นและช่วยปกป้องแหล่งน้ำใต้ดิน การหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ช่วยลดความเสี่ยงด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ระบบเกษตรเชิงนิเวศ เช่น เกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมสุขภาพของดินและระบบนิเวศ ทำให้การผลิตอาหารมีเสถียรภาพแม้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ แนวทางอย่างวนเกษตรและการปลูกแนวกันลมยังช่วยป้องกันการพังทลายของดินและลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง อีกทั้งฟาร์มเกษตรอินทรีย์ยังใช้พลังงานน้อยลงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำผ่านการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ (7)
ปัจจุบันภาครัฐและองค์กรระดับโลกเริ่มให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์มากขึ้น อย่างในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีการตั้งเป้าหมายให้พื้นที่เกษตรกรรม 20% กลายเป็นเกษตรอินทรีย์ภายในปี 2045 ซึ่งแม้จะยังไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมากนัก แต่ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันแนวทางนี้ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง (8)
การทำเกษตรอินทรีย์จึงจะเป็นมากกว่าทางเลือกของเกษตรกร เพราะจะทำให้ทุกคนตั้งแต่ผู้ผลิตยันผู้บริโภคได้มีส่วนช่วยลดโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก การลดขยะอาหาร หรือการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ทุกการเปลี่ยนแปลงแม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมหาศาล (8)
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
(1) Sorry – organic farming is actually worse for climate change., Climate Change and Energy, MIT Technology Review.
(2) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, การเกษตรอินทรีย์สามารถเลี้ยงผู้คนทั่วโลกอย่างยั่งยืนได้หรือไม่?
(3) Thairath, Future Perfect, กินผักช่วยโลก บริโภค “เนื้อสัตว์” น้อยลง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
(4) iGreen, โลกเลี้ยวขวามุ่งหน้าออร์แกนิก ไทยสวนกระแสหนุนใช้ปุ๋ยเคมี ก๊าซไนตรัสออกไซด์โลกพุ่ง 40%
(5) iGreen, เลือกกินอย่างรู้ที่มา บทบาทรักษ์โลกของผู้บริโภคอย่างเรา
(6) องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน ด้วยการ “ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
(7) Why is organic better for the planet?, Soil Association.
(8) Organic Agriculture Helps Solve Climate Change., NRDC.