ขยะพลาสติกอันตรายมากกว่าที่คิดและมันก็เพิ่มขึ้นทุกปีด้วยความตระหนักและความร่วมมือในการลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) ยังอยู่ในอัตราต่ำ มีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมากเกินความจําเป็น ทำให้มีขยะพลาสติกบางส่วนหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำและทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในทะเล อีกทั้งการคัดแยกขยะจากชุมชนและครัวเรือนยังไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้การรวบรวมขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำได้แค่บางส่วน (1) หรือสามารถนำขยะมาวนใช้ประโยชน์ซ้ำในอัตราที่ต่ำ อย่างข้อมูลปี 2566 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยประมาณ 26.95 ล้านตัน สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 9.31 ล้านตัน (2)
               กรมควบคุมมลพิษจึงจัดทําแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 –2570) เพื่อขับเคลื่อนการดําเนินงานการจัดการขยะพลาสติกโดยตั้งเป้าให้ปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมาย (เช่น ขวดพลาสติก ฝาขวด และถุงพลาสติกหูหิ้ว) เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะลดลงร้อยละ 100 และผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร้อยละ 100 รวมถึงลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล ร้อยละ 50 (3)
               ในขณะที่ภาคเอกชนที่ดำเนินการได้โดดเด่น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ตั้งเป้าปี 2573 รีไซเคิลพลาสติกปีละ 1 แสนล้านขวด (6) บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จะรับซื้อขวด PET สูงสุด 30,000 ตันต่อปี หรือ 1,500 ล้านขวด (7)
               ทว่า ภาพรวมทั่วโลกพบว่า ขยะพลาสติกทั่วโลกที่ถูกรวบรวมเพื่อการรีไซเคิลมีเพียง 9% ของขยะพลาสติกทั้งหมด ที่เหลืออีก 91% ถูกนำเข้าสู่กระบวนการฝังกลบ เผาทำลาย หรือกลายเป็นขยะในสิ่งแวดล้อม (4) โดยมี 10 ประเทศผู้นำการรีไซเคิลขวด PET ประกอบด้วย เยอรมนี 98% นอร์เวย์ 97% ญี่ปุ่น 77% ฝรั่งเศส 58.2% สหราชอาณาจักร 57.6% เกาหลีใต้ 54.4% อิตาลี 45% ออสเตรเลีย 31.8% สหรัฐ 29.3% แคนาดา 9% โดยอุตสาหกรรมรีไซเคิลขวดพลาสติกทั่วโลกมีมูลค่า 3,200 ล้านปอนด์ ปอนด์ (ประมาณ 4,047 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2022 และคาดว่าจะเติบโตที่อัตราต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 5.3% ตั้งแต่ปี 2023 ถึงปี 2031 และจะแตะระดับ 5,100 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6,451 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในสิ้นปี 2031 (5)
               ปัจจุบันประมาณการว่ามีพลาสติกกว่า 8-14 ล้านตัน ถูกทิ้งลงในมหาสมุทรทุกปี ซึ่งการจัดการขยะพลาสติกในอัตราที่ต่ำกว่าเกณฑ์ส่งผลให้แต่ละปีมีสัตว์ทะเลถูกสังเวยจากมลพิษพลาสติกกว่า 1 ล้านตัว อย่างไรก็ดี หากทั่วโลกสามารถนำขวด PET มาใช้ซ้ำได้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 94.4 กิโลกรัมต่อปี (8)

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กรมควบคุมมลพิษ, แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570)
(2) ThaiPBS, “ขยะล้นเมือง” คนไทยสร้างขยะเฉลี่ย 7.3 หมื่นตัน/วัน
(3) MGR Online, ครม. อนุมัติแผนปฏิบัติการจัดการขยะพลาสติกระยะ 2 ใช้หลัก ศก.หมุนเวียน คลอด 4 มาตรการ
(4) Finally, a solution to plastic pollution that’s not just recycling, Vox.
(5) Plastic Bottle Recycling : Is It A Solution to the Global Plastic Waste Problem?, GreenMatch.
(6) กรุงเทพธุรกิจ, ‘อินโดรามา’ ลงทุนเทคโนโลยี ตั้งเป้ารีไซเคิล PET แสนล้านขวดต่อปี
(7) ThaiPlastic Recycle, THAIPLASTIC RECYCLE GROUP ชุบชีวิตขวด PET สู่เกล็ดพลาสติกสร้างมูลค่า
(8) Plastic Waste Facts and Statistics, Business Waste.