ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 เมื่อปี 2566 ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้บรรลุข้อตกลง “เปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล” (Transition away from fossil fuel) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อพยายามไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเลวร้ายลงไปกว่านี้ และจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (°C) เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยสาระสำคัญภายใต้ข้อตกลงนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนเป็นสามเท่าทั่วโลก ภายในปี พ.ศ.2573 และเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยเฉลี่ยทั่วโลกเป็นสองเท่า ภายในปี พ.ศ.2573 (1)
การตั้งเป้า Triple UP, Double Down หรือการเพิ่มปริมาณพลังงานสะอาดให้ได้สามเท่าและพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานให้ดีขึ้นสองเท่าที่ว่า จำเป็นต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเติม และนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเร่ง แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประเทศที่ไม่มีคนและเทคโนโลยีพร้อม จะให้เลิกใช้ฟอสซิลทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในการประชุม COP29 จึงจะมีการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ชนพื้นเมือง เยาวชน กลุ่มคนในพื้นที่ขัดแย้ง หรือกลุ่มอาชีพที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม (A Just and Equitable Energy Transition) ซึ่งกลุ่มประเทศตะวันออกกลางยอมรับว่ายังไงก็ไม่สามารถออกจากฟอสซิลได้ คำว่า Transition ของเขาคือ ลด ละ แต่ไม่เลิก แค่จะไม่เสพติดพลังงานจากฟอสซิลอีกต่อไป (2)
ทำให้การประชุม COP29 ทั่วโลกจับตามองกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งเน้นการลดการใช้พลังงานฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น แต่ทว่าอุตสาหกรรมพลังงานโลกยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติที่อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในขณะนั้นประธาน COP28 จึงได้ริเริ่มโครงการ “Energy Transition Changemakers” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการลดการปล่อยมลพิษที่มีนวัตกรรมและขยายผลได้ทั่วโลก พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ช่วยสนับสนุน และเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (3)
บริษัทและองค์กรทุกขนาดจากทั่วโลกสามารถสมัครเข้าร่วมได้ โดยโครงการทุกประเภทในสี่ภาคส่วนสำคัญมีสิทธิ์จะได้รับการพิจารณา ได้แก่ การใช้พลังงานทดแทน การบูรณาการพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ และภาคการปล่อยก๊าซหนัก เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และอลูมิเนียม ทว่าในหลายประเทศยังมีแหล่งพลังงานหลักมาจากฟอสซิล (3)
การประชุม COP28 ได้ปิดฉากพร้อมกับข้อตกลงที่ส่งสัญญาณถึง “จุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด” ยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็ว เป็นธรรม และเท่าเทียม สนับสนุนด้วยการลดการปล่อยมลพิษอย่างจริงจังและการระดมทุนที่เพิ่มขึ้น ในสัญลักษณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระดับโลกจากผู้แทนเกือบ 200 ประเทศที่ไปรวมตัวกันที่ดูไบ และมีมติร่วมกันเกี่ยวกับ “การทบทวนระดับโลก” เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มระดับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศก่อนสิ้นทศวรรษนี้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อรักษาขีดจำกัดอุณหภูมิโลกที่ไม่เกิน 1.5°C (4)
การทบทวนระดับโลก (Global Stocktake) ถือเป็นผลลัพธ์สำคัญของ COP28 เนื่องจากครอบคลุมองค์ประกอบทุกด้านที่อยู่ระหว่างการเจรจา และจะถูกนำไปใช้โดยประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งมีกำหนดส่งภายในปี 2568 การทบทวนดังกล่าวยอมรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกต้องลดลง 43% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2562 เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5°C ซึ่งจะว่าไปในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายความตกลงปารีสได้ (4)
การทบทวนเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการระดับโลกเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้สามเท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นสองเท่าภายในปี 2573 รวมถึงเร่งลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน โดยที่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อลดมลพิษหรือจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ และมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในลักษณะที่เป็นธรรม มีระเบียบ และเท่าเทียม ประเทศพัฒนาแล้วยังคงต้องเป็นผู้นำในการดำเนินการ (4)
ในระยะสั้น มีการสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เสนอเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด ทุกภาคส่วน และทุกประเภท พร้อมทั้งสอดคล้องกับขีดจำกัด 1.5°C ในแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศรอบถัดไป (การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC) ซึ่งจะต้องยื่นภายในปี 2568 (4)
ทว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก อาทิ รัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งต้องเผชิญกับการปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (5)
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความต้องการพลังงานโลกที่ยังคงสูงและยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลดพลังงานฟอสซิลเป็นเรื่องท้าทาย แม้ว่าโลกจะมีความคืบหน้าในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วในบางภาคส่วน เช่น การผลิตไฟฟ้าและยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า แต่ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ ที่ปรับเปลี่ยนได้ช้ากว่าที่คาดไว้ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ การขนส่งทางเรือ และการบิน การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานฟอสซิลทั้งหมด ส่งผลให้การลดก๊าซเรือนกระจกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากการขาดกฎระเบียบที่ชัดเจนและการลงทุนที่ต่อเนื่องทั่วโลก นอกจากนี้ ต้นทุนการเปลี่ยนแปลงยังสูงมาก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหาในการยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตโดยไม่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (6)
ดังนั้น ความสำคัญอยู่ที่การสร้างนโยบายที่มั่นคงและส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลา แต่ความสำเร็จในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาดที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้ถือเป็นสัญญาณบวกที่อาจช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึงในอนาคต (6)
การที่พลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนฟอสซิลได้เต็มรูปแบบนั้น เป็นเหตุผลที่หลายประเทศยังต้องคงการใช้พลังงานฟอสซิลไว้ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศพยายามหาทางออกเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และเป็นธรรมต่อประเทศที่ยังพึ่งพาแหล่งพลังงานเหล่านี้ (7)
อย่างไรก็ดี องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เชื่อว่าในระยะยาวการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะเป็นไปได้ หากทุกประเทศมีการวางแผนที่ดีด้านนโยบายและได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน รวมถึงเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนั้น ประเทศต่าง ๆ ยังต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งรวมถึงการลดการพึ่งพาน้ำมันและการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อเป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับการผลิตพลังงาน (8)
ท้ายที่สุดนี้ การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไม่ใช่แค่การเลือกใช้พลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการวางแผนระบบพลังงานที่สมดุลและตอบโจทย์การใช้พลังงานที่ยังมีอยู่ การเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เมื่อความท้าทายการเปลี่ยนผ่านพลังงานยังคงอยู่ การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลกที่ผ่านมานี้จึงเป็นก้าวย่างสำคัญในการสร้างการพูดคุยระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อวางแผนและกำหนดทิศทางการใช้พลังงานให้เกิดความเป็นธรรม และไม่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

แหล่งที่มา :
(1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สถาบันการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (สพท.). ศูนย์องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. Output/Outcomes COP28 โลกได้อะไร.
(2) iGreen. จับตา COP29 ลดพลังงานอย่างไร เมื่อกลุ่มตะวันออกกลางไม่เลิกฟอสซิล.
(3) COP28
(4) COP28 Agreement Signals “Beginning of the End” of the Fossil Fuel Era., UNFCCC : United Nations Framework Convention on Climate Change., United Nations Climate Change.
(5) Russia’ Great Energy Game in the Middle East., CARNEGIE : Endowment for International Peace.
(6) Why aren’t we reducing our reliance on fossil fuels faster?, World Economic Forum.
(7) Energy Transition Outlook : Renewables still not replacing fossil fuels in the global energy mix., DNV
(8) World Energy Outlook shows there are set to be almost 10 times as many electric cars on the road, with renewables nearing half of the global power mix, but much stronger policies needed for 1.5 °C., The energy world is set to change significantly by 2030, based on today’s policy settings alone., IEA