ตรุษจีนยั่งยืน สร้างโลกสีเขียว ลดโลกร้อน
“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” เทศกาลตรุษจีน เวียนมาบรรจบอีกครั้ง หรือเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองสู่การขึ้นปีใหม่ของผู้ที่มีเชื้อสายจีนทั่วโลก นำพาความสุขและความปิติมาสู่ทุกครัวเรือน แต่รู้หรือไม่ว่า ประเพณีที่เรารักและปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว แล้วเราจะฉลองตรุษจีนอย่างไรให้มีความสุขและยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ?
(1) เปลี่ยนเสื้อแดงตัวเก่า ให้เป็นลุคใหม่ : การมีเสื้อผ้าใหม่ต้อนรับปีใหม่ก็เป็นเรื่องดี แต่การนำเสื้อผ้าที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนให้ดูใหม่ก็เป็นไอเดียที่เจ๋งไม่แพ้กันเลยค่ะ นอกจากจะประหยัดเงินแล้ว ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะจากเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้
(2) จุดประทัดออนไลน์ : การจุดประทัดทำให้เกิดเขม่าควันจากการเผาไหม้ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงวัย การจุดประทัดออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ โดยการเปิดเสียงประทัดผ่านลำโพงในระดับเสียงที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการช่วยสืบสานแนวทางปฏิบัติแบบเดิมไว้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
(3) เปลี่ยนไปใช้ธูป/เทียนไฟฟ้า : ควันที่เกิดขึ้นจากการจุดธูปเทียนส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเปลี่ยนมาใช้ธูปเทียนไฟฟ้าจึงเป็นอีหนึ่งทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะธูปเทียนไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดควันรวมทั้งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
(4) โอนเงินแทนซองแดง : ลดการใช้กระดาษโดยโอนเงินแทนซองแดง วิธีนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการใช้กระดาษและลดขยะเท่านั้น แต่ยังสะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับอีกด้วย การโอนเงินจึงเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว
(5) ทำอาหารอย่างเหมาะสม : การจัดโต๊ะไหว้ให้มีความหมายและในปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว เพื่อไม่ให้มีปริมาณอาหารเหลือทิ้ง เป็นการลดของเสียจากอาหารและลดปริมาณขยะอินทรีย์ในครัวเรือน ที่สำคัญยังช่วยลดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้โลกร้อนอีกด้วย
(6) car pool หรือใช้รถสาธารณะ : เป็นทางเลือกที่ดีในการประหยัดพลังงานและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2.95 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
– Urbancreature
– Climate Care Collaboration Platform