นี่แหละวิกฤตโลกร้อนของจริง ไทยหนาวสะท้านยาวนานที่สุด หิมะถล่มญี่ปุ่น ไฟป่าโหมแคลิฟอร์เนีย
ช่วงสัปดาห์นี้สภาพอากาศโลกแปรปรวนหนักมาก ในประเทศไทยเผชิญอากาศหนาวเย็นลงนานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 16-18 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นผลมาจากมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ สภาพอากาศนี้ส่งผลให้ประชาชนต้องเผชิญกับหมอกบางในตอนเช้าและความเสี่ยงจากอากาศแห้งที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยในหลายพื้นที่ (1)
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศประจำวันที่ 13 มกราคม 2568 พบว่าเช้าวันนี้เป็นวันที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบปีนี้และหลายปีที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 6.6 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดสกลนคร ส่วนประเทศไทยตอนบนยังมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่ กทม.อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 14.8 องศาเซลเซียส และฤดูหนาวจะลากยาวไปจนถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 (2)
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ มวลอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้อุณหภูมิในบริเวณเหล่านี้ลดลง พร้อมกับมีลมแรงเกิดขึ้น (1)
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า ในปี 2567 ประเทศจีนประสบกับอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี โดยอุณหภูมิที่เมืองโม่เหอในมณฑลต้าซิงอันหลิงลดลงถึง -53 องศาเซลเซียส พร้อมกับหิมะตกหนักเกือบทั่วประเทศ ปรากฏการณ์อากาศหนาวสุดขั้วนี้เกิดจาก “Polar Vortex” หรือกระแสลมกรดพัดล้อมรอบบริเวณที่มีอากาศเย็นจัด ซึ่งเป็นการแผ่ขยายของมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือสู่ประเทศจีน โดยมีสาเหตุมาจากการที่โลกร้อนขึ้น ทำให้กระแสลม Polar Jet Stream เบี่ยงทิศทาง และทำให้กระแสลมกรดนี้ขยายลงมายังพื้นที่ทางใต้ (3)
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากการหมุนของลมขั้วโลกที่พัดจากทิศตะวันตกไปตะวันออก ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้มวลอากาศเย็นจากขั้วโลกแผ่ขยายลงมาทางใต้ แต่ด้วยการที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้กระแสลมกรดดังกล่าวอ่อนกำลังลงและขยายไปยังประเทศจีนและภูมิภาคอื่น ๆ ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นจัดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การที่มวลอากาศเย็นแผ่ขยายลงมาทางใต้ยังส่งผลให้เกิดความกดอากาศสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดอากาศหนาวเย็นผิดปกติ และยาวนานกว่าปีก่อน ๆ (3)
สภาพอากาศที่หนาวเย็นในไทยยังส่งผลให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นทำให้อากาศปิด การสะสมของฝุ่นละอองในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ (3)
อีกฟากหนึ่งของโลก เกิดไฟป่าโหมไหม้บ้านเรือนประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของลอสแอนเจลิส และได้คร่าชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 10 ราย เจ้าหน้าที่ต้องสั่งอพยพประชาชนเกือบ 180,000 คน และเผาผลาญพื้นที่ไปหลายแสนไร่ (5) (6)
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ไฟป่าเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงกว่าในอดีต ความร้อนและความแห้งแล้งในปีที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งให้เกิดสถานการณ์ไฟป่าในปัจจุบัน แม้ว่าปริมาณฝนที่ตกมากในช่วงสองปีที่ผ่านมาในแคลิฟอร์เนียจะช่วยให้พืชพรรณเติบโต แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนและฤดูหนาวที่แห้งแล้ง พืชเหล่านี้กลับกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ไฟลุกลามได้ง่ายขึ้น (6)
ลมซานตาอานาที่พัดแรงถึง 129 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียลุกลามอย่างรวดเร็ว ลมเหล่านี้นอกจากจะพัดเปลวไฟให้แพร่กระจายไปในวงกว้าง ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่ต้องควบคุมไฟป่าในพื้นที่ลาดชัน (4)
ผลกระทบจากไฟป่าครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ว่าสูงถึง 1.97 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ควันไฟที่ลอยฟุ้งไปไกลยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศในพื้นที่ใกล้เคียง และสุขภาพของประชาชนในระยะยาว (5)
ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับหิมะตกหนักที่สุดในรอบปีที่โทไคและโฮคุริกุในภูมิภาคทางตอนเหนือและตะวันตกโดยบางพื้นที่หิมะสะสมสูงถึง 70 เซนติเมตร สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเดินทาง รถไฟชินคันเซ็นในภูมิภาคโฮคุริกุต้องลดความเร็วลงหรือหยุดให้บริการชั่วคราวในบางสาย และทางด่วนบางส่วนต้องปิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การเตรียมพร้อมรับมือของญี่ปุ่นแม้จะมีประสิทธิภาพ แต่ภัยพิบัติเช่นนี้ได้สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม (7) (8)
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า สภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้คือผลพวงของภาวะโลกร้อนที่เร่งให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิอากาศโลก และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน เช่น ฤดูหนาวที่หนาวจัดหรือฤดูร้อนที่ร้อนจัด ไม่เพียงกระทบต่อมนุษย์แต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศอย่างรุนแรง (9)
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กำลังเตือนเราว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์เป็นทางรอดและจำเป็น การใช้พลังงานทดแทนและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแนวทางที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตนี้ได้ แต่หากยังไม่ลงมือทำ อนาคตของโลกอาจเต็มไปด้วยสภาพอากาศสุดขั้วที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อีกต่อไป (10)
“ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
แหล่งที่มา :
(1) กรมอุตุนิยมวิทยา
(2) ฐานเศรษฐกิจ, กรมอุตุนิยมวิทยา เผยสภาพอากาศวันนี้ ไทยหนาวเย็นที่สุดในรอบปี
(3) ไทยโพสต์ : อิสรภาพแห่งความคิด, นักวิชาการ มีคำอธิบาย ‘ทำไม? ประเทศไทยปีนี้จึงหนาวเย็นมากกว่าปกติ’
(4) Why wildfires are becoming faster and more furious, BBC News.
(5) BBC News ไทย, ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย : สถานการณ์ยังน่ากังวล เปิดสาเหตุไฟโหมรุนแรงหนัก, ไฟป่าแคลิฟอร์เนียโหมรุนแรง สาเหตุมาจากอะไร เรารู้อะไรแล้วบ้าง?
(6) BBC News ไทย, ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่าในแอลเอ, ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่ารุนแรงในแคลิฟอร์เนียอย่างไร?
(7) Sea of Japan coast braces for heavy snow, possible traffic disruption, JapanToday.
(8) Heavy snow hits north, west Japan, 100 vehicles temporarily stranded., Kyodo News+
(9) Climate Change Indicators : Weather and Climate, EPA : United States Environmental Protection Agency.
(10) Greenhouse gases emissions and global climate change : Examining the influence of CO2, CH4, and N2O., ScienceDirect.