ส่งเสริมการบริการร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Restaurant)


หลักการและเหตุผล

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายสถานประกอบการภาคการผลิต ภาคการบริการ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ลดการเกิดของเสีย ลดการสูญเสียอาหาร (Food loss) และขยะอาหาร (Food waste) ตลอด supply chainและมีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG Model และที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงดำเนินโครงการส่งเสริมการบริการร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Restaurant) ปี ๒๕๖8 เพื่อขยายผลร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเพื่อส่งเสริมการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบและลดการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างพอเพียงและยั่งยืน


วัตถุประสงค์

1) สถานประกอบการที่ให้บริการด้านอาหาร สามารถลดปริมาณขยะเศษอาหาร มีศักยภาพในการจัดการขยะอินทรีย์ที่ถูกหลักวิชาการ และมีการจัดการที่ต้นทาง

2) สถานประกอบการที่ให้บริการด้านอาหาร มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พร้อมทั้งยกระดับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ

4) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่เกิดจากการบริการร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


เป้าหมาย

เพื่อให้สถานประกอบการประเภทภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือสวนอาหาร มีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี และลดการปล่อยก๊าซก๊าซเรือนกระจก โดยสถานประกอบการแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ภัตตาคาร หมายถึง ร้านอาหารที่มีขนาดใหญ่ 2 คูหาขึ้นไป ที่รับประทานอยู่ภายในอาคารพนักงานแต่งกายด้วยเครื่องแบบ

ร้านอาหาร หมายถึง ร้านอาหารขนาดเล็ก 1 – 2 คูหา ที่รับประทานอาหารอยู่ภายในอาคารส่วนใหญ่เป็นอาหารประจำถิ่นหรือเป็นอาหารเฉพาะอย่าง เช่น ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ส้มตำ เป็นต้น

สวนอาหาร หมายถึง ร้านอาหารที่มีขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่รับประทานอาหารอยู่นอกอาคาร บรรยากาศเป็นแบบธรรมชาติ พนักงานแต่งกายด้วยเครื่องแบบ

หมายเหตุ : จะไม่รวมถึงร้านอาหารประเภท ร้านอาหารแบบบริการตนเอง (Buffet) /ร้านอาหารจานด่วน (Fast food) /ห้องอาหารในโรงแรม /โรงอาหาร (Canteen) ในโรงงานสำนักงาน หรือโรงเรียน /ศูนย์อาหาร (Food hall) /ร้านบริการเครื่องดื่มที่ไม่มีบริการอาหาร /แผงลอย /ร้านตลาด /ร้านอาหารแบบเคลื่อนที่ /บริการจัดเลี้ยง /บริการอาหารสำหรับกิจการขนส่ง


คุณสมบัติของสถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ

1) เป็นนิติบุคคลหรือมีทะเบียนพาณิชย์ประเภทการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499

2) มีใบอนุญาต/หนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

3) มีการดำเนินงานสอดคล้องตาม กฎกระทรวง สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ครบถ้วน

4) ไม่อยู่ระหว่างการถูกกล่าวโทษหรือถูกตรวจสอบเรื่องร้องเรียนด้านสาธารณสุขหรือสิ่งแวดล้อม

5) ร้านอาหารที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ต้องไม่มีเมนูที่ใช้ผลิตผลจากธรรมชาติที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลากระเบนบางสายพันธุ์ ครีบฉลาม ปลาทูน่า หรือที่มีการทารุณกรรมสัตว์ เช่น ตับฟัวการ์ หรือ ไข่จากไก่เลี้ยงกรง Cage/Battery Chicken เป็นต้น


เกณฑ์การประเมินร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Restaurant)

เกณฑ์การประเมินประกอบด้วย องค์ประกอบ 4 หมวด 14 องค์ประกอบย่อย และตัวชี้วัดการดำเนินงาน 46 ตัวชี้วัด ดังนี้

หมวดที่ 1 : การผลิตอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

1. การจัดซื้อวัตถุดิบ (จำนวน 4 ข้อย่อย)

2. การจัดเก็บวัตถุดิบ (จำนวน 2 ข้อย่อย)

3. การเตรียมวัตถุดิบและการปรุงอาหาร (จำนวน 4 ข้อย่อย)

หมวดที่ 2 : การให้บริการและส่วนสนับสนุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4. การสร้างเอกลักษณ์ทางด้านภัตตาคารและร้านอาหารที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม (จำนวน 4 ข้อย่อย)

5. การให้บริการและการเสิร์ฟ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรหรือลดขยะตั้งแต่ต้นทาง (จำนวน 4 ข้อย่อย)

6. การให้บริการอาหารและเครื่องดื่มแบบนำกลับบ้าน และแบบจัดส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (จำนวน 2 ข้อย่อย)

หมวดที่ 3 : การจัดการพลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อม

7.การจัดการพลังงาน (จำนวน 4 ข้อย่อย)

8.การจัดการน้ำและน้ำเสีย (จำนวน 4 ข้อย่อย)

9.การจัดการขยะและของเสีย (จำนวน 4 ข้อย่อย)

10. การจัดการมลพิษอากาศและเสียง (จำนวน 2 ข้อย่อย)

หมวดที่ 4 : การบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น

11.การกำหนดแนวทาง เป้าหมาย และการมีส่วนร่วมของพนักงาน (จำนวน 3 ข้อย่อย)

12. การมีส่วนร่วมของพนักงานและผู้ใช้บริการ (จำนวน 3 ข้อย่อย)

13. ความปลอดภัย (จำนวน 2 ข้อย่อย)

14. ความรับผิดชอบต่อท้องถิ่น ชุมชน และสังคม (จำนวน 4 ข้อย่อย)


เกณฑ์ระดับคะแนนแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ดังนี้

1) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ร้อยละ ๘๕ ขึ้นไป

2) ระดับเงิน (ดีมาก) ร้อยละ ๗๕ – ๘๔

3) ระดับทองแดง (ดี) ร้อยละ ๖๕ – ๗๔

อายุการรับรองการตรวจประเมิน 3 ปี

สิทธิประโยชน์สำหรับร้านอาหารที่ผ่านรับรอง

1) ร้านอาหารที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับโล่และประกาศนียบัตร จากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

2) นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สำหรับการวางแผนและพัฒนาในระยะต่างๆ

3) สามารถควบคุมและลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรและพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

4) มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของสถานประกอบการ

5) ได้รับการประชาสัมพันธ์สื่อต่างๆ ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

6) ผลักดันร้านอาหารที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน เข้าสู่บัญชีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตระกร้าเขียวของกรมควบคุมมลพิษ และ Thai Green Directory ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางต่อไป


หน่วยงานรับผิดชอบ

กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

โทร.0 2298 2653, 0 2278 8400 – 19 ต่อ 1661

โทรสาร 0 2298 5653